ก.เกษตรฯ เผยภาพรวมในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา ในโครงการลดต้นทุนการผลิตและการเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสินค้าเกษตร โดยได้ดำเนินการไปแล้วประมาณร้อยละ 83.24 ของเป้าหมายทั้งหมด
นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศรณรงค์ให้ปี 2559 เป็น “ปีแห่งการลดต้นทุนการผลิตและการเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสินค้าเกษตร” ซึ่งโครงการลดต้นทุนการผลิตและการเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสินค้าเกษตร มี 4 แนวทางในการลดต้นทุน ได้แก่ ลดค่าใช้จ่ายปัจจัยการผลิต การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ด้านการตลาด และด้านการบริหารจัดการ เพื่อให้เกษตรกร มีต้นทุนการผลิตลดลงและมีผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้น รวมทั้งผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐาน สร้างโอกาสในการแข่งขันสินค้าเกษตร
การดำเนินงานตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เป็นการบูรณาการร่วมกันทั้งภายในและภายนอกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมพัฒนาที่ดิน กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง และหน่วยงานอื่น ๆ ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย ขณะนี้ได้ดำเนินการในกิจกรรม ครบทั้ง 4 มาตรการ โดยจากการติดตามของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ภาพรวมในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 2558 - มิถุนายน 2559) ได้ดำเนินการไปแล้วประมาณร้อยละ 83.24 ของเป้าหมายทั้งหมด มีกิจกรรมสำคัญ ดังนี้
มาตรการที่ 1 การลดต้นทุน ได้ความร่วมมือจากกระทรวงพาณิชย์ ลดราคาจำหน่ายปุ๋ยเคมี/สารเคมี โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการ/ร้านค้าทั้ง 77 จังหวัด สหกรณ์การเกษตรและผู้ประกอบการ ลดค่าบริการรถเกี่ยวนวดข้าว นอกจากนี้ ธ.ก.ส. กำหนดโครงการให้สินเชื่อกับเกษตรกร ปี 2559 จำนวน 7 โครงการ และธนาคารออมสิน มีโครงการให้สินเชื่อกับประชาชนทั่วไป 3 โครงการ
มาตรการที่ 2 การเพิ่มผลผลิต กรมพัฒนาที่ดิน ให้บริการวิเคราะห์ดิน กรมการข้าวจัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าว จัดทำโครงการส่งเสริมและพัฒนาเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรเพื่อให้ปลูกข้าวตามแนวทางปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) ในพื้นที่ 40,000 แปลง ตามเป้าหมาย กรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดทำโครงการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสู่ตลาดอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์ 26 แห่ง ซึ่งได้รับการรับรองคุณภาพ GAP ตามเป้าหมายแล้ว 5,000 ราย และส.ป.ก. พัฒนาองค์ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมเกษตรกรเข้าสู่มาตรฐานการผลิต GAP โดยส่งเสริมเกษตรกร 2,338 ราย ใน 65 จังหวัด ได้ร้อยละ 104 ของเป้าหมาย (2,260 ราย)
มาตรการที่ 3 ด้านการตลาด กรมส่งเสริมการเกษตร ให้ความรู้ด้านการตลาด ส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ครบทั้ง 77 จังหวัด และ 154 กลุ่มเป้าหมาย ดำเนินการได้ร้อยละ 80 ของปริมาณงาน และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ชี้แจงทำความเข้าใจข้อมูลการตลาด ใน 76 จังหวัด
มาตรการที่ 4 การบริหารจัดการ กรมส่งเสริมการเกษตรและสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร วางแผนการปลูกและเก็บเกี่ยวเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ดำเนินการแล้วใน 77 จังหวัด และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จัดอบรมการจัดทำบัญชีต้นทุนจำนวน 9,383 ราย ได้ร้อยละ 82.72 ของเป้าหมาย (11,343 ราย)
นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตสินค้าพืชเกษตรที่สำคัญ ปี 2559 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (ข้อมูล ณ เดือน มิถุนายน 2559) เทียบกับปี 2558 ที่ผ่านมา ลดลงร้อยละ 1.21 - 12.67 โดยต้นทุนการผลิตข้าวนาปรังลดลงมากที่สุด ร้อยละ 12.67 รองลงมา คือ ปาล์มน้ำมัน ลดลง ร้อยละ 7.01 ยางพารา ลดลง ร้อยละ 6.18 มันสำปะหลัง ลดลง ร้อยละ 2.17 และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลดลง ร้อยละ 1.21 สำหรับต้นทุนการผลิตสินค้าปศุสัตว์และประมง ปี 2559 (ข้อมูล ณ เดือน มิถุนายน 2559) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ลดลง ร้อยละ 1.14 - 5.84 โดยต้นทุนการผลิตไก่เนื้อ ลดลงมากที่สุดร้อยละ 5.84 กุ้ง ลดลงร้อยละ 3.84 และ สุกร ลดลงร้อยละ 1.14
ทั้งนี้ ผลติดตามประเมินโครงการรอบ 9 เดือน โดยสัมภาษณ์เกษตรกรจำนวน 729 ราย ในพื้นที่ 15 จังหวัดทั่วทุกภาค ช่วงระยะเวลาที่สำรวจข้อมูลระหว่างวันที่ 20 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2559 ภาพรวม พบว่า เกษตรกรร้อยละ 53 มีความพึงพอใจระดับมาก เนื่องจากช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร และมีเงินลงทุนทำการเกษตร ส่วนร้อยละ 42 มีความพึงพอใจปานกลาง เนื่องจากยังไม่แน่ใจว่าช่วยลดต้นทุนได้ และเห็นว่าควรให้ลดราคาให้มากกว่านี้ โดยเกษตรกรร้อยละ 85 เห็นว่าราคาได้ปรับลดลง โดยเฉพาะค่าเมล็ดพันธุ์ข้าวและปุ๋ยเคมี เกษตรกรร้อยละ 82 ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และเกษตรกรร้อยละ 70 มีการรวมกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรฯ ผู้ปลูกมันสำปะหลัง ผู้เลี้ยงโค-กระบือ ผู้เลี้ยงไก่พื้นเมือง ดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือ และแลกเปลี่ยนความรู้ภายในกลุ่มร่วมกัน
ข่าวเด่น