สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผย ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน(FETCO Investor Confidence Index : ICI) ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า หรือ ดัชนีเชื่อมั่นเดือนกันยายน 2559 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้น 29% ขณะที่ดัชนีรวมเพิ่มขึ้น 11.75% หรืออยู่ที่ 106.46 จุด เนื่องจากนักลงทุนมั่นใจในความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจภายในประเทศ
ดร.คเณศ วังส์ไพจิตร ผู้อำนวยการสภาธุรกิจตลาดไทย เผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ 104.46 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 11.75% จาก 93.48 ในเดือนที่ผ่านมา ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับตัวขึ้นเป็นส่วนใหญ่ โดยดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้นถึง 29%
ในหมวดอุตสาหกรรมที่น่าสนใจมากที่สุด คือ บริการรับเหมาก่อสร้าง (CONS) ขณะที่หมวดแฟชั่น (FASHION) ยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด ในสายตานักลงทุน
ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ ในขณะที่ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ และความผันผวนของสถานการณ์เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซน หลังจากเกิด Brexit ส่งผลให้ค่าเงินผันผวนอย่างมาก ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆในสหภาพยุโรปที่เป็นคู่ค้าสำคัญของอังกฤษ
ผลการลงประชามติของสหราชอาณาจักรในการออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมานั้น ส่งผลโดยตรงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและทั่วโลกอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบของค่าเงินที่มีความผันผวนสูงขึ้นจากผลพวงของเศรษฐกิจที่จะส่งต่อไปยังประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรปที่เป็นคู่ค้าสำคัญของอังกฤษทำให้นักลงทุนเคลื่อนย้ายเม็ดเงินไปสู่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ
ด้วยปัจจัยเหล่านี้ ทำให้ตลาดหุ้นไทยได้รับอานิสงส์จากเม็ดเงินจากต่างชาติที่ไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นกว่า 2.53 แสนล้านบาท ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้น ตลาดหุ้นไทยก็จะเริ่มสะท้อนปัจจัยพื้นฐานและเศรษฐกิจในประเทศได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ยังคงต้องให้ความระมัดระวังจากความผันผวนในตลาดการเงินโลก ตลอดจนพัฒนาการทางการเมืองภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงประชามติที่จะเกิดขึ้นในเดือน ส.ค. อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง
นายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในครึ่งปีแรกปรับตัวขึ้นกว่า 12% จากสภาพคล่องในตลาดเงินโลกที่เพิ่มขึ้น จากเฟดส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารกลางยุโรป และญี่ปุ่น ประกาศเพิ่มมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน นอกจากนี้ราคาน้ำมันโลกได้ปรับตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดเนื่องจากประเทศผู้ผลิตน้ำมันเริ่มเปิดการเจรจาเพื่อคงกำลังการผลิต ลดความกังวลต่อปัญหาอุปทานน้ำมันล้นตลาด ทั้งนี้ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทยไตรมาส 1 หุ้นที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคภายในประเทศเริ่มมีผลกำไรฟื้นตัวชี้ให้เห็นว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลได้ส่งผลบวกต่อภาคเศรษฐกิจ ผลกระทบจากBrexit ต่อประเทศไทยยังมีน้อยและสัดส่วนการส่งออกไปอังกฤษมีแค่ 2%
ในส่วนของตลาดหุ้นไทย ครึ่งปีหลัง 2559 คาดว่า ยังคงเป็นขาขึ้นแบบ Side way up โดยมีเป้าหมาย SET Index ปลายปีประมาณที่ 1,500 จุด ปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นไทย ได้แก่ แนวโน้มธนาคารกลางสหรัฐฯ ชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยซึ่งส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นในภูมิภาค นอกจากนี้ พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังมีพัฒนาการที่ดีขึ้น จากรายได้ภาคเกษตรกลับมาเป็นบวกเนื่องจากภัยแล้งคลี่คลาย ราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น ดัชนีภาคบริการหลายตัวแสดงถึงการผ่านจุดต่ำสุดของการบริโภคภายในประเทศ และรัฐบาลยังออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ประกอบกับภาครัฐเร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการเริ่มเบิกจ่ายงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะเข้ามาเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในอีกหลายปีข้างหน้า และจะเป็นปัจจัยหนุนต่อเนื่องให้แก่ตลาดหุ้นไทยส่งผลบวกต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนในระยะถัดไป แต่ยังต้องจับตาปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ภาคธนาคารที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา Managing Director และ Chief Investment Officer บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า เราดีใจที่ผลกระทบของ Brexit มีผลต่อประเทศไทยน้อย ส่วนเรื่องของจีดีพี ในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมามีแต่ลดต่ำลง แต่ในปีนี้มีการประมาณการณ์ว่าจีดีพีโตเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 3% ขึ้นไป (ประมาณ 3.2%) ซึ่งสะท้อนว่านักลงทุนมีความเชื่อมั่นในประเทศไทย ภาคท่องเที่ยว ก็ยังคงมีนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น
ทางด้าน นายวชิรา ณ ระนอง นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ได้เผยถึงค่าเฉลี่ยคะแนน AGM ปี 2559 ว่า ค่าเฉลี่ยคะแนน AGM ปี 2559 ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 0.18 จากเดิม 92.68 คะแนน ลดลงเป็น 91.62 คะแนน ด้วยเหตุผลของการยกระดับแบบประเมินที่เพิ่มความเข้มข้นขึ้น โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collection Action Coalition : CAC) อยู่ในระดับที่น่ายินดี โดยบริษัทที่ผ่านเกณฑ์จนได้รับวุฒิบัตรแล้วจำนวน 81 บริษัท มากขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 42 บริษัท และที่เหลือกำลังรอขั้นตอนการเข้าสู่การผ่านเกณฑ์ในลำดับถัดไป
ข่าวเด่น