ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
สถานการณ์ราคาน้ำมันและแนวโน้มประจำสัปดาห์ 11 - 15 ก.ค.59 - บมจ.ไทยออยล์


 


หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน บมจ.ไทยออยล์  คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 11-15 ก.ค.59 และสรุปสถานการณ์ฯ 4-8 ก.ค.59

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 46 – 51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 46 – 51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (11 - 15 ก.ค. 59)
          
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่าจะยังคงได้รับแรงกดดันจากอุปทานน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยปริมาณการผลิตน้ำมันของลิเบียมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น หลังจากบริษัทผลิตน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย (NOC) เผยว่าสามารถตกลงรวมตัวกันกับองค์กรผลิตน้ำมันของฝั่งตรงข้ามรัฐบาล ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ฝั่งตะวันออกของประเทศลิเบียได้ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้นใกล้ระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เริ่มกลับมาขุดเจาะและผลิตน้ำมันดิบเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบอาจไม่ได้ปรับลดลงไปมากนักเนื่องจากยังคงได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนุนต่อราคาน้ำมันดิบ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) วันที่ 26-27 ก.ค. นี้ 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
         
- ปริมาณการผลิตน้ำมันของลิเบียมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น หลังจากบริษัทผลิตน้ำมันแห่งชาติของลิเบียหรือ National Oil Corporation (NOC) เผยว่า NOC สามารถตกลงรวมตัวกันกับองค์กรผลิตน้ำมันของฝั่งตรงข้ามรัฐบาล ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ฝั่งตะวันออกของประเทศลิเบียได้ โดยความขัดแย้งด้านการเมืองระหว่างพื้นที่ทางตะวันออกและตะวันตกของประเทศที่ยืดเยื้อได้ส่งผลให้กำลังการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียอยู่ในระดับต่ำราว 3 แสนบาร์เรลต่อวันนับตั้งแต่ปี 58 ซึ่งปรับลดลงมากกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับปริมาณการผลิตในปี 54 ที่ราว 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ล่าสุดรัฐบาลลิเบียส่งสัญญาณถึงความพร้อมที่จะฟื้นฟูกำลังการผลิตน้ำมันดิบสู่ระดับ 700,000 บาร์เรลต่อวันภายในสิ้นปีนี้ หากท่าส่งออกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ได้แก่ Es-Sider และ RasLanuf ที่มีความสามารถในการขนส่งน้ำมันดิบ 340,000 และ 220,000 บาร์เรลต่อวันตามลำดับ กลับมาดำเนินการได้ตามปกติ
         
- ราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้นใกล้ระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เริ่มกลับมาขุดเจาะและผลิตน้ำมันดิบเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากหลุมน้ำมันที่ขุดไว้แล้ว (Drilled but Uncompleted Wells หรือ DUCs ) เนื่องจากผู้ผลิตบางรายเริ่มคุ้มทุนที่จะกลับมาดำเนินการผลิตใหม่ ซึ่งเห็นได้จากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ณ วันที่ 1 ก.ค. ที่ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 11 แท่น มาอยู่ที่ระดับ 341 แท่น ซึ่งถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา
         
- จับตาสถานการณ์การผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรีย หลังจากรัฐบาลไนจีเรียประกาศว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรียปรับเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบ 30 ปีที่ราว 1.34 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 1.8 – 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากการซ่อมแซมท่อขนส่งน้ำมันดิบให้สามารถกลับมาดำเนินการได้ตามเดิม อย่างไรก็ดี ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงตามที่รัฐบาลไนจีเรียกล่าวอ้าง เนื่องจากล่าสุดกลุ่มติดอาวุธ Niger Delta Avengers อ้างว่าได้โจมตีแหล่งการผลิตและท่อขนส่งน้ำมันของบริษัท Chevron ในเมือง Warri ทางตอนใต้ของประเทศไนจีเรีย เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา 
         
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หลังจากโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ เพิ่มกำลังการกลั่นมากขึ้นเพื่อรองรับความต้องใช้น้ำมันในช่วงฤดูกาลขับขี่ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 1 กค. ปรับลดลง 2.2 ล้านบาร์เรล  ซึ่งเป็นการปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่หกติดต่อกัน สู่ระดับ 524.4 ล้านบาร์เรล ในขณะที่ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบ คุชชิ่ง โอกลาโฮมา ปรับลดลง 0.1 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 64.1 ล้านบาร์เรล
         
- ค่าเงินดอลล่าสหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนุนต่อราคาน้ำมันดิบ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) วันที่ 26-27 ก.ค. นี้ โดยล่าสุดรายงานการประชุม FOMC ประจำเดือน มิ.ย. ของ Fed ระบุว่าคณะกรรมการ FOMC เห็นพ้องให้ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่า Fed จะได้รับข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบจากการที่อังกฤษลงประชามติออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) 
         
- ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต-ผู้บริโภค ปริมาณการส่งออก และจีดีพีไตรมาส 2/59 ของจีน ดัชนีราคาผู้ผลิต จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ดัชนีราคาผู้บริโภค และความเชื่อมันผู้บริโภคของสหรัฐฯ

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (4 - 8 ก.ค. 59)
         
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 3.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 45.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 3.59 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 46.76 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 44 เหรียญสหรัฐฯ โดยตลาดได้รับแรงกดดันจากความกังวลต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น หลังจากสหราชอาณาจักรลงมติขอแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ว่าอาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันดิบได้ นอกจากนี้ ตลาดได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานล้นตลาด เนื่องจากปริมาณการผลิตจากกลุ่มโอเปกในเดือน มิ.ย. แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 32.82 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยปรับเพิ่มขึ้น 250,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกยังคงกำลังการผลิตในระดับสูงเพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดไว้ 

       
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 ก.ค. 2559 เวลา : 07:15:59

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:13 am