นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน เปิดเผยถึงแผนการบริหารจัดการท่าอากาศยานภูมิภาค 28 แห่ง ว่า กำลังทบทวนผลการศึกษาเดิม เพื่อกำหนดแนวทางที่ชัดเจน คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 3 เดือน เบื้องต้นจะพิจารณาแนวทางเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในรูปแบบของพีพีพี ท่าอากาศยานที่ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศที่มีศักยภาพ นำร่องจากท่าอากาศยานกระบี่ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 5,000 ล้านบาท เช่น การก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร การขยายลานจอดและทางวิ่งทางขับ เพื่อรองรับการเติบโตในอีก 10 ปีข้างหน้า
ส่วนสนามบินที่เหลืออีก 27 แห่ง อยู่ระหว่างวิเคราะห์ข้อมูลที่เคยจ้างการศึกษาก่อนหน้านี้ โดยจะแบ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ คือมีปริมาณการขึ้นลงของเที่ยวบินจำนวนมาก อาทิท่าอากาศยานอุบลราชธานี อุดรธานี และขอนแก่น เป็นต้น จะพิจารณาวางแผนและแนวทางในการพัฒนาสนามบินดังกล่าว ส่วนกลุ่มที่มีปริมาณเที่ยวบินน้อยจะกำหนดให้เป็นท่าอากาศยานเพื่อให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน เน้นใช้เงินงบประมาณในการพัฒนาและปรับปรุง ซึ่งรายละเอียดที่ชัดเจนจะสรุปผลอีกครั้ง
“ผมมั่นในว่าสนามบินกระบี่จะมีเอกชนสนใจเข้ามาร่วมลงทุน เพราะเป็นสนามบินที่มีศักยภาพและคุ้มค่าการลงทุนมากสุด ขณะที่กรมท่าอากาศยานยังทำหน้าที่การกำกับดูแลและควบคุมเรื่องมาตรการของสนามบินได้” นายจุฬากล่าว
ทั้งนี้กรมเตรียมขอ อนุมัติเงินจากกองทุนหมุนเวียน ซึ่งจัดเก็บรายได้จากค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน (PSC) จำนวน 10 ล้านบาท เพื่อใช้ในการว่าจ้างที่ปรึกษาเข้ามาศึกษารายละเอียดความเป็นไปได้ของโครงการ รวมทั้งการเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนและนักลงทุน ( Market Sounding) ด้วย
ข่าวเด่น