นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลสำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทย (CSI) สำรวจเดือนมิถุนายน 2559 จากประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการภาคเอกชน และข้าราชการ/ภาครัฐ รวม2,400 ตัวอย่าง พบว่า ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยโดยรวมอยู่ที่ 53 คะแนน จากเต็ม 100 คะแนน ลดลงเล็กน้อย จากการสำรวจครั้งที่แล้วเดือนธันวาคม 2558 ที่มี 55 คะแนน (0 คะแนน หมายถึง สถานการณ์ปรับตัวแย่ลงที่สุด และ 100 คะแนน หมายถึง สถานการณ์ปรับตัวดีที่สุดถึงไม่มีปัญหาเลย) ทั้งนี้ ค่าดัชนียังยืนอยู่เหนือ 50 คะแนนได้ถือว่าสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยยังดีอยู่ และยังดีกว่าการสำรวจในช่วงที่ผ่านมา
ส่วนดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันในปัจจุบันอยู่ที่ 51 จากครั้งก่อนที่ 52 คะแนน และดัชนีแนวโน้มสถานการณ์ในอนาคตอยู่ที่ 56 จากครั้งก่อนที่ 57 เพราะรัฐมีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ซึ่งอาจเกิดความเสี่ยงให้เกิดการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง จึงมีโอกาสเกิดคอร์รัปชั่นขึ้นมาได้
การสำรวจในครั้งนี้ พบว่า เปอร์เซ็นต์ของเงินเพิ่มพิเศษของรายรับที่ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจกับภาครัฐจะต้องจ่ายเงินเพิ่มพิเศษแก่ข้าราชการ/นักการเมืองที่ทุจริตเพื่อให้ได้สัญญาเฉลี่ย อยู่ที่ 1-15 % ซึ่งคิดเป็น 93.1% ของการจ่ายทั้งหมด และจากการสำรวจครั้งนี้ พบว่า มีผู้ตอบว่ามีการจ่ายเงินเพื่อให้ได้สัญญา 31-35% เพิ่มขึ้นมาจากการสำรวจครั้งที่แล้ว คิดเป็น 2.3% ซึ่งถือเป็นจุดที่ต้องติดตามต่อไป
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลสำรวจพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 38% มองว่าความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นปัจจุบันมีเพิ่มขึ้น อีก 30% คาดว่าปัญหาทุจริตปีหน้าจะเท่าเดิม โดยสาเหตุที่ทุจริตอันดับแรก คือ กฎหมายเปิดโอกาสให้สามารถใช้ดุลพินิจ ซึ่งเอื้อต่อการทุจริต รองลงมา คือความไม่เข้มงวดบังคับใช้กฎหมาย กฎระเบียบ และกระบวนการทางการเมืองขาดความโปร่งใส อีกทั้งยังตรวจสอบได้ยาก โดยรูปแบบการทุจริตบ่อยที่สุด คือ ให้สินบน ของกำนัล หรือรางวัลต่าง ๆ รองลงมาใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว และการใช้ตำแหน่งทางการเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์พรรคพวก
สำหรับผลเสียหายที่เกิดจากการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยประเมินจากงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างจากหน่วยงานราชการ พบว่า ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจกับภาครัฐ ต้องจ่ายเงินเพิ่มพิเศษแก่ข้าราชการและนักการเมืองที่ทุจริต เพื่อให้ได้สัญญาเฉลี่ย 1-15% หรือคิดเป็นวงเงิน 60,000-180,000 ล้านบาท ส่งผลกระทบต่องบประมาณรายจ่ายของรัฐ 2.19-6.57% การลดเรียกเงินสินบนทุก 1% ส่งผลให้การคอร์รัปชั่นลดลง 10,000 ล้านบาท อีกทั้งการทุจริตคอร์รัปชั่นไทยนั้น ส่งผลกระทบต่อจีดีพีของประเทศให้ลดลง 0.42-1.27%
เรื่องสำคัญที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการด่วนที่สุด เพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น คือบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวด มาตรการลงโทษเด็ดขาด การสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนว่าการคอร์รัปชั่นยอมรับไม่ได้ การปรับปรุงกฎระเบียบประมูลงาน การจัดซื้อจัดจ้าง และสัมปทาน กลยุทธ์สำหรับการแก้ไขทุจริตคอร์รัปชั่นที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญอันดับแรก คือ การบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำการทุจริตคอร์รัปชั่นระดับมหภาค เพื่อเป็นตัวอย่างในการบังคับใช้อย่างจริงจัง การสร้างกระบวนการ วิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้จากบุคคลภายนอก และวางนโยบายเศรษฐกิจเอื้อต่อการแข่งขันอย่างโปร่งใส เท่าเทียมกัน
ข่าวเด่น