เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) แถลงข่าว “ส่องหมูแผ่นกรอบ หมูหวาน ยี่ห้อไหนผ่านมาตรฐานจาก 14 ยี่ห้อ” ว่า ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มพบ.เก็บตัวอย่าง หมูแผ่นกรอบ หมูหวาน หมูเค็ม เนื้อเค็ม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตจำหน่ายในระดับโรงงาน ที่เก็บมาจากห้างสรรพสินค้า ตลาดเยาวราช ตลาดอตก. จำนวน 14 ตัวอย่าง เพื่อตรวจสอบหาการผสมสารโซเดียมไนเตรท และโซเดียมในไตรท์ หรือ สารกันบูด ซึ่งพบว่ามีการผสมสารไนเตรททุกตัวอย่าง โดยพบต่ำสุดอยู่ที่ 15.94 มิลลิกรัม (มก.) ต่อกิโลกรัม (กก.) ขณะที่พบสารไนเตรทสูงสุดอยู่ 3 ตัวอย่าง ในปริมาณ 169.93 มก.ต่อกก. ปริมาณ 216.05 มก.ต่อกก. และปริมาณ 2,033.16 มก.ต่อกก.
ตัวอย่างที่พบสารไนเตรทสูงนั้นเป็นเนื้อหมูสวรรค์ที่เก็บจากตลาดองค์การตลาดเพื่อการเกษตร หรือตลาด อ.ต.ก. ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ส่วนสารไนไตรท์พบใน 7 ตัวอย่าง ต่ำสุดน้อยกว่า 10 มก.ต่อกก. สูงสุดอยู่ที่ 55.68 มก.ต่อกก. นอกจากนี้ จากการตรวจสอบพบว่าหลายยี่ห้อไม่ระบุว่า ผสมสารดังกล่าว อีกทั้งยังไม่ระบุว่าหมดอายุ ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เพราะไม่ทราบว่าผลิตตั้งแต่เมื่อไหร่ จะหมดอายุเมื่อไหร่ ซึ่งผิดตามพ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522
“อยากให้ผู้ประกอบการ และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ใส่ใจเรื่องการผสมสารทั้ง 2 ประเภทนี้ เพราะจากการศึกษาพบว่าถ้ารับประทานมากๆ เสี่ยงเกิดโรคมะเร็งตับ เป็นอันตรายกับไต ระบบทางเดินอาหาร ลำไส้อ่อน ถ้าคนแพ้จะมีอาหารเฉียบพลันต่อระบบทางเดินหายใจ หัวใจเต้นเร็ว ทำให้เสียชีวิตได้” น.ส.มลฤดี กล่าว
ด้าน น.ส. สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ มพบ. กล่าวว่า ตัวอย่างที่เก็บมานั้น บางตัวเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตจำหน่ายในระดับโรงงาน ซึ่งพบว่ามีการผสมไนเตรท และสารไนไตรท์ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ตามกฎหมายของ อย. ระบุว่าผู้ประกอบการจะผสมสารเหล่านี้ต้องขออนุญาตเป็นรายๆ ไป ทั้งนี้เนื่องจากอาหารกลุ่มนี้มีการลักษณะการปิ้ง ย่าง ทอด และใช้เกลือเป็นส่วนประกอบ ซึ่งช่วยยืดอายุอาหารอยู่แล้ว แต่ตอนนี้บางรายจดแจ้ง บางรายไม่ได้จดแจ้ง แต่ทั้งนี้ก็ไม่พบว่ามีการระบุบนฉลากอาหารเลยว่ามีการใช้สารเหล่านี้
น.ส.สารี กล่าวต่อว่า อยากเรียกร้องไปยัง อย. 3 ประเด็นคือ 1.เร่งดำเนินการกับผู้ประกอบการอาหารที่ มพบ.มีการตรวจสอบพบว่ามีการผสมสารไนเตรท ไนไตรท์ 2. ขอให้มีการปรับปรุงมาตรฐานอาหารให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานสากล และปรับฐานข้อมูลการจดแจ้งสารบบของอย.ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันครอบคลุมทั้งประเทศ จากเดิมที่สามารถตรวจสอบได้เพียงแค่ที่กทม. และปริมณฑลเท่านั้น 3. ขอให้เร่งบังคับใช้ฉลากตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 367 พ.ศ. 2557 หลักเกณฑ์เงื่อนไขวิธีการใช้วัตถุเจือปนในอาหาร นอกจากนี้ ตนเห็นว่าประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตอาการ ดังนั้นเพื่อยกระดับอาหารไทยให้ปลอดภัย และได้รับการยอมรับควรมีหน่วยงานที่เข้ามาช่วยดูแลเรื่องรสชาติอาหารที่อร่อยได้โดยไม่ต้องใส่สารกันบูด
ข่าวเด่น