นางฤชุกร สิริโยธิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าฯ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คัดค้านการโอนเงินด้วยระบบพร้อมเพย์ เนื่องจากไทยไม่มีกฎหมายคุ้มครองการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลว่า ธปท.ได้เข้าหารือกับนายบวรศักดิ์ เพื่อชี้แจงให้เข้าใจว่าการโอนเงินระบบพร้อมเพย์ไม่ใช่การบังคับ แต่เป็นทางเลือกในการให้บริการโอนเงิน ซึ่งยืนยันว่าการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวไม่สามารถกระทำได้ เพราะมีพ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 ดูแลอยู่ โดยเฉพาะมาตรา 154 ที่กำหนดว่า ห้ามผู้ใดที่ล่วงรู้ข้อมูลกิจการสถาบันการเงินเปิดเผยข้อมูล หากทำผิดมีโทษทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งปัจจุบันยังไม่พบว่ามีผู้ใดละเมิดมาตราดังกล่าว ซึ่งนายบวรศักดิ์ไม่ได้ติดใจเรื่องดังกล่าว แต่เห็นว่าควรมีการผลักดันให้เกิดกฎหมายควบคุมดูแลข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
นางฤชุกร กล่าวด้วยว่า หลังเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนล่วงหน้าระบบพร้อมเพย์ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา พบว่า มีประชาชนลงทะเบียนทั้งสิ้น 9.7 ล้านคน แบ่งเป็นลงทะเบียนเลขบัตรประชาชนจำนวน 8.1 ล้านคน และลงทะเบียนด้วยเบอร์โทรศัพท์ 1.6ล้านคน ซึ่งในวันที่ 15 ก.ค. จะเปิดลงทะเบียนอย่างเป็นทางการไม่มีกำหนดปิดลงทะเบียน โดยในช่วงเดือน ก.ค. – ต.ค. จะเป็นช่วงของการทดสอบระบบ ซึ่งจะมีการประสานงานร่วมกับธนาคารพาณิชย์ อีกทั้งยังมีแผนฉุกเฉินรับมือ จึงขอให้ประชาชนมั่นใจเรื่องระบบความปลอดภัยก่อนที่เริ่มรับ-โอนเงินได้จริงวันที่ 31 ต.ค. นี้
ข้อควรระวังของประชาชนที่จะใช้บริการระบบพร้อมเพย์ จะต้องระมัดระวังการตั้งรหัสเข้าระบบและรหัสผ่าน โดยห้ามบอกรหัสให้ผู้อื่นรู้และรักษาอุปกรณ์ เช่น โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้เชื่อมต่อทำธุรกรรมเกี่ยวกับระบบพร้อมเพย์ เพื่อไม่ให้ผู้อื่นนำไปใช้งาน และผู้โอนเงินควรศึกษาเรียนรู้วิธีการใช้งาน ธปท.ขอย้ำว่าการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์มีกลไกในการรักษาความปลอดภัย เพราะต้องมีรหัสผ่านและธนาคารพาณิชย์จะมีรหัส OTP ส่ง SMS เพื่อยืนยันตัวตนของเจ้าของบัญชีก่อนการโอนเงินทุกครั้ง แต่ผู้ใช้บริการจะต้องรักษาข้อมูลส่วนตัวของตัวเองด้วย โดยเฉพาะรหัสผ่าน เพื่อความปลอดภัยในการโอนเงิน
ข่าวเด่น