อย. เผยมีการเฝ้าระวังเพื่อตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง พร้อมดำเนินการทางกฎหมายอย่างเข้มงวดหากพบการกระทำผิด แนะผู้บริโภคอ่านฉลากก่อนซื้อ ดูวันผลิตและหมดอายุ สังเกตผลิตภัณฑ์ต้องไม่มีสีผิดไปจากธรรมชาติ
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากกรณีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคออกมาเปิดเผยผลการตรวจสอบหมูแผ่น หมูหวาน หมูเค็มและเนื้อเค็ม นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอแจ้งว่า อย. มีการเฝ้าระวังเพื่อตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น แฮม กุนเชียง หมูยอ แหนม และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ที่เป็นอาหารพร้อมบริโภค เช่น เนื้อทอด หมูอบแห้ง เนื้อแดดเดียว หมูแผ่น หมูสวรรค์ หมูหยอง หมูเส้น หมูทุบ เป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว ซึ่งผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์นั้น สุขลักษณะของสถานที่ผลิตต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) ห้ามใส่สีในตัวผลิตภัณฑ์ ส่วนวัตถุเจือปนอาหาร ประเภทวัตถุกันเสีย การอนุญาตและปริมาณที่ใช้ขึ้นอยู่กับชนิดของผลิตภัณฑ์ เช่น ไส้กรอก แฮม สามารถใช้ไนเตรท ไนไตรท์ ได้ตามปริมาณที่กฎหมายกำหนด ลูกชิ้นปลา อนุญาตให้ใช้กรดซอร์บิกได้ เป็นต้น
สำหรับการแสดงฉลาก ขณะนี้มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 367 ว่าด้วยเรื่อง ฉลาก ซึ่งกำหนดให้อย่างน้อยต้องมี รายละเอียดชื่อผลิตภัณฑ์ เลขสารบบอาหาร 13 หลัก ในกรอบเครื่องหมาย อย. วัน เดือน ปีที่ผลิต วันหมดอายุ หรือควรบริโภคก่อนสูตรส่วนประกอบสำคัญโดยประมาณ ปริมาณสุทธิ ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร
ข้อมูลรายชื่อและกลุ่มหน้าที่ของวัตถุเจือปนอาหาร โดยผู้ประกอบการรายใหม่ต้องปฏิบัติทันทีตามประกาศนี้ ส่วนรายเก่าให้เวลาการแก้ไขฉลากถึงเดือนธันวาคม 2559 หากตรวจพบว่า มีการแสดงข้อความบนฉลากอาหารไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
ทั้งนี้ การที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เก็บตัวอย่างและแจ้งผลตรวจสอบของผลิตภัณฑ์ หมูแผ่น หมูหวานหมูเค็ม และเนื้อเค็ม นั้น อย.จะมีการลงพื้นที่เก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในส่วนการดำเนินการของ อย. มีการสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เพื่อวิเคราะห์หาปริมาณวัตถุกันเสีย (ได้แก่กรดเบนโซอิค กรดซอร์บิก ไนเตรท ไนไตรท์) ชนิดและปริมาณสีสังเคราะห์ และจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคโดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 (ตุลาคม 2558 - มีนาคม 2559) ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์
จำนวน 49 ตัวอย่าง ผ่าน 38 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 77.55 ไม่ผ่าน 11 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 22.45 ซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการตามกฎหมาย โดยข้อบกพร่องที่พบคือ ใช้วัตถุกันเสียเกินปริมาณที่กฎหมายกำหนดใช้วัตถุกันเสียในผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่อนุญาตให้ใช้ และพบสีสังเคราะห์อาหาร
จึงขอเตือนผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎหมายอย่างเข้มงวด หาก อย. ตรวจพบการใช้วัตถุเจือปนอาหาร เช่นวัตถุกันเสียเกินปริมาณที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นวัตถุกันเสียที่ไม่อนุญาตให้ใช้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน20,000 บาท กรณีตรวจพบว่า มีการใช้ในปริมาณที่มากจนอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีคำสั่งให้งดผลิตหรืองดนำเข้าจนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
รองเลขาธิการฯ กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า ขอฝากไว้สำหรับผู้บริโภค ควรรับประทานอาหารให้หลากหลายชนิดประเภท ไม่ควรรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์แปรรูปบ่อยครั้งเกินไป หากจะรับประทานควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ที่ไม่มีสีแดงจัดผิดไปจากธรรมชาติของผลิตภัณฑ์ ก่อนซื้อควรสังเกตชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุ หรือควรบริโภคก่อน เลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. หากเป็นอาหารประเภท หมูยอ หมูแหนม ลูกชิ้น ควรมีการเก็บรักษาในอุณหภูมิเย็นตลอดการจำหน่าย เพื่อความปลอดภัยในการบริโภค และหากผู้บริโภคไม่แน่ใจในคุณภาพหรือความปลอดภัยของอาหาร หรือพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค ขอให้ร้องเรียนมาได้ที่สายด่วน อย. โทร. 1556 หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.th หรือร้องเรียนผ่าน OryorSmart Application หรือ สานักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อ อย. จะได้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่กระทำผิดต่อไป
ข่าวเด่น