กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีเรือประมงเวียดนามถูกจับกุมในน่านน้ำไทยในช่วงวันที่ 7-9 กรกฎาคม 2559ตามที่ได้มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดกับศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ดังนี้
เหตุการณ์ที่ 1
- เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2559เวลา 13.00น. เรือปฏิบัติการของ ศรชล.เขต 2 จำนวน 1 ลำ ตรวจพบเรือประมงเวียดนาม 5 ลำในน่านน้ำไทย จึงเข้าตรวจค้นและสามารถจับกุมได้ 3 ลำ พร้อมลูกเรือ 30 คนรวมไต้ก๋ง ส่วนเรืออีก 2 ลำได้หลบหนีไป
- ในระหว่างการเข้าตรวจค้น เรือประมงเวียดนาม 2 ใน 3 ลำที่ถูกจับกุมได้พุ่งชนเรือปฏิบัติการฯ จนได้รับความเสียหาย แต่เรือปฏิบัติการฯ ก็สามารถควบคุมสถานการณ์และนำลูกเรือเวียดนามขึ้นเรือปฏิบัติการฯ และได้ส่งเจ้าหน้าที่ไทยไปควบคุมไต้ก๋งชาวเวียดนามให้บังคับเรือเวียดนามแต่ละลำตามมาขึ้นฝั่งไทยเพื่อดำเนินคดี
- อย่างไรก็ดี ในระหว่างทาง เรือประมงเวียดนาม 2 ในจำนวน 3 ลำมีน้ำไหลเข้าสู่เรือปริมาณมาก เรือปฏิบัติการฯ จึงให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายช่างกลตรวจสอบแต่ก็ไม่สามารถอุดรูรั่วหรือสูบน้ำออกได้ ดังนั้น เรือปฏิบัติการฯ จึงรับเจ้าหน้าที่ไทยและไต้ก๋งเวียดนามในเรือประมงทั้ง 2 ลำที่กำลังจะจมน้ำให้ขึ้นมาบนเรือปฏิบัติการฯ แต่ไต้ก๋งเวียดนาม 1 รายได้ขัดขืนและตัดสินใจกระโดดกลับไปที่เรือ ด้วยพายุลมกรรโชกแรงและคลื่นทะเลสูง 1.5 เมตร เรือปฏิบัติการฯ จึงไม่สามารถติดตามและจำเป็นต้องพาเรือประมงเวียดนามอีกลำที่มีรูรั่วกลับสู่ฝั่งเพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ไทยและลูกเรือประมงเวียดนามที่เหลือ โดยระหว่างอยู่บนเรือปฏิบัติการ ได้มีการจัดหาอาหารและน้ำให้แก่ชาวประมงเวียดนามที่ถูกจับด้วย
- ต่อมา เรือปฏิบัติการฯ พร้อมด้วยอากาศยานจาก ศรชล.เขต 2 ได้กลับไปยังจุดที่เรือประมงเวียดนามจมหายทั้ง 2 ลำ และวนหาไต้ก๋งเวียดนามที่สูญหายอย่างสุดความสามารถแต่ไม่พบ
- ในวันที่ 8 ก.ค.2559 ศรชล.เขต 2 ได้ส่งเรือและอากาศยานไปติดตามหาไต้ก๋งเวียดนามที่สูญหายอีกครั้งแต่ไม่พบ และเมื่อถึงฝั่งไทยเมื่อวันที่ ๑๐ ก.ค. ๒๕๕๙ เรือปฏิบัติการฯ ได้ส่งมอบตัวลูกเรือเวียดนามทั้งหมดพร้อมของกลางเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย
เหตุการณ์ที่ 2
- เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2559 เวลา 12.00 น. เรือปฏิบัติการของ ศรชล.จำนวน 2 ลำได้ตรวจพบเรือประมงเวียดนาม 2 ลำในน่านน้ำไทย จึงดำเนินการตามขั้นตอนหลักปฏิบัติในการตรวจค้น (VBSS Procedure) อาทิ พยายามติดต่อทางวิทยุ แสดงแผ่นป้ายให้เรือประมงตอบรับการติดต่อ ประกาศด้วยภาษาเวียดนามให้เรือประมงเวียดนามหยุดเพื่อให้ตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม เรือประมงเวียดนาม ทั้ง 2 ลำเร่งเครื่องหนีและโยนสิ่งของบางอย่างทิ้งลงทะเล
- โดยที่เรือปฏิบัติการฯ ได้รับข้อมูลจากการจับกุมเรือประมงเวียดนามในเหตุการณ์ที่ 1 ว่า เรือประมงเวียดนามมีพฤติกรรมพร้อมจะเสี่ยงอันตรายเพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุม จึงได้ตักเตือนให้เรือประมงเวียดนามหยุด แต่เรือทั้ง 2 ลำก็ยังหลบหนีและเมื่อจวนตัว เรือประมงเวียดนามได้พุ่งชนเรือปฏิบัติการฯ จนได้รับความเสียหาย ในที่สุด เรือปฏิบัติการฯ ก็สามารถเข้าจับกุมเรือประมงเวียดนามและลูกเรือได้ทั้งหมด 9 คน และพบลูกเรือได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 2 คน เจ้าหน้าที่ไทยจึงได้ทำความสะอาดบาดแผล ตรวจวัดชีพจรและความดันและส่งลูกเรือเวียดนามดังกล่าวขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปยังโรงพยาบาลที่จังหวัดสงขลา ก่อนส่งมอบลูกเรือเวียดนามทั้งหมดพร้อมของกลางเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายในเวลา 18.30 น. ทั้งนี้ ณ วันที่ 10 กรกฎาคม 2559 แพทย์ได้วินิจฉัยให้ลูกเรือประมงที่ได้รับบาดเจ็บและได้รับการรักษาสามารถออกจากโรงพยาบาลได้
การดำเนินการของหน่วยปฏิบัติการของ ศรชล.เขต 2 ได้ยึดหลักการอย่างเคร่งครัด ดังนี้
1. เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการของไทยได้ดำเนินการตามหลักปฏิบัติในการตรวจค้นในการขอตรวจค้นเรือ โดยใช้มาตรการจากเบาไปสู่หนัก ซึ่งสอดคล้องกับแนวปฏิบัติระหว่างประเทศ
2. เรือประมงเวียดนามดังกล่าว รุกล้ำน่านน้ำไทยถึงบริเวณฐานขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทย ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายไทยที่มีบทลงโทษในการจับกุมและดำเนินคดี ตาม พ.ร.ก.ประมง พ.ศ. 2558 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิการประมงในเขตการประมงไทย พ.ศ. 2482 รวมทั้งอาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวไทยอีกด้วย
3. เจ้าหน้าที่ไทยได้ปฏิบัติตามหลักมนุษยธรรมในการดูแลชาวประมงเวียดนาม เช่นเดียวกับการดูแลชาวประมงไทยและชาวประมงต่างชาติ โดยได้จัดอาหารและน้ำดื่ม ให้การปฐมพยาบาลและจัดส่งผู้ได้รับบาดเจ็บทางเฮลิคอปเตอร์ เพื่อเข้าไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลใน จ.สงขลา โดยทันที
4. ศรชล.เขต 2 ได้ใช้ความพยายามในการดำเนินการต่อเรือประมงเวียดนามอย่างละมุนละม่อม และพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงอย่างสุดความสามารถ รวมทั้งได้มีการประสานงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างต่อเนื่องกับทางการเวียดนามผ่านความร่วมมือด้าน hotline ที่มีระหว่างกัน โดยฝ่ายไทยกำลังอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนเพื่อขยายผลภายหลังการจับกุม
ทั้งนี้ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2558 - 30 เมษายน 2559 มีการจับกุมเรือประมงเวียดนามแล้วอย่างน้อย 19 ลำ โดยมีลูกเรือประมงเวียดนามถูกจับกุมทั้งหมด 160 คน ซึ่งเป็นผลจากความพยายามของไทยในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายในน่านน้ำไทย (IUU) อย่างไรก็ดี ฝ่ายไทยไม่ได้นิ่งนอนใจและจะเพิ่ม – กระชับความร่วมมือกับฝ่ายเวียดนามในการแก้ไขปัญหาเรือประมงร่วมกันต่อไป
ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว เมื่อ12 ก.ค. 59 กระทรวงการต่างประเทศได้เชิญเอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทย มาเพื่อชี้แจงและรับทราบข้อมูลแล้ว และเมื่อ 13 กรกฎาคม 2559 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย ได้ดำเนินการส่งรายละเอียดข้อเท็จจริงข้างต้น ให้กระทรวงการต่างประเทศเวียดนามอีกทางหนึ่งด้วยแล้ว
ข่าวเด่น