ก.ท่องเที่ยวฯประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเสนอร่างแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 – 2564) และร่างข้อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติ
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้จัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเสนอร่างแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 – 2564) และร่างข้อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติในวันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 ณ ห้องพาวิลเลี่ยน เอณ โรงแรมแกรนด์โฟร์วิงส์คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดย
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดำรงตำแหน่งเป็นประธานในพิธี โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมวิพากษ์ร่างแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 2รวม 4ท่านคือ นายวิจิตร ณ ระนองประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายเจริญ วังอนานนท์นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA)นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมถึงปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และมีผู้เข้าร่วมจำนวนกว่า 400 คน ประกอบด้วย ผู้แทนสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ผู้แทนส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ผู้แทนสมาคมธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ผู้แทนสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปผู้สนใจ โดยมีสาระสำคัญ กล่าวคือ
การพิจารณาจัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560–2564) เป็นการดำเนินการในช่วงเวลาสำคัญของประเทศคือ ช่วงเวลาแห่งการปฏิรูปประเทศไทยให้ก้าวไปสู่การที่ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมและประสานประโยชน์เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขบนวิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”
ในการจัดทำแผนฯนั้นมีการเน้นกระบวนการทำงานที่เป็น consensus building ที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน ตั้งแต่สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)จนถึงขั้นตอนการทำงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงน่าจะถือได้ว่าเป็น “แผนชาติ” อย่างแท้จริงซึ่งจะนำมาซึ่งการบูรณาการ
การทำงานของทุกภาคส่วน ทั้งกระทรวงทบวงกรม และท้องถิ่น
ทั้งนี้ สรุปการประเมินผลการดำเนินการในภาพรวมของแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 1(พ.ศ.2555-2559) ปรากฏว่าการดำเนินงานประสบความสำเร็จตามเป้าหมายดัชนีชี้วัดที่ตั้งไว้ทั้ง 3 ประการ ได้แก่
1) การพัฒนาขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยวอย่างน้อย 5 อันดับหรือเป็นหนึ่งใน 7 อันดับสูงสุดของเอเชีย 2) การเพิ่มรายได้จากนักท่องเที่ยวอย่างน้อยร้อยละ 5 ต่อปี และ3) การพัฒนา 8 กลุ่มจังหวัดท่องเที่ยว(tourism cluster) อย่างไรก็ตามพบว่ามีปัญหาที่ควรเร่งแก้ไขในด้านการพัฒนาปัจจัยอุปทาน และการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
การกำหนดกรอบแนวคิดและปัจจัยแห่งความสำเร็จของแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 2 เพื่อให้ตอบสนองเจตนารมณ์ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของรัฐบาล(ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี(พ.ศ.2560– 2579))แผนของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(วาระพัฒนาที่ 1การพัฒนาการท่องเที่ยว)ยุทธศาสตร์ประชารัฐด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวและ MICEแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560–2564) ยุทธศาสตร์แผนการตลาดท่องเที่ยวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และแผนของหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สามารถสรุปในภาพรวมได้ว่าแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 2 มุ่งเน้น
1) การส่งเสริมความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนของประเทศ 2) การเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพชั้นนำ3) การนำรายได้และความเข้มแข็งสู่เศรษฐกิจฐานราก4) การต่อยอดพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและนำเสนอสินค้า บริการด้านการท่องเที่ยวที่ผูกโยงกับวิถีไทยและ 5) การบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างบูรณาการและเป็นระบบ ด้วยการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพบนพื้นฐานความสมดุลในการท่องเที่ยวทั้งในเชิงวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม โดยมีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ชุมชน และภาคประชาชนตั้งแต่ระดับท้องถิ่น
โดยมีวิสัยทัศน์การท่องเที่ยวไทยพ.ศ.2579คือ “ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพชั้นนำของโลก ที่เติบโตอย่างมีดุลยภาพบนพื้นฐานความเป็นไทย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และกระจายรายได้สู่ประชาชนทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน" โดยมุ่งเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมการเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ การพัฒนาขีดความสามารถในการเเข่งขันเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเเข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้น เพื่อรักษาอันดับของประเทศไทยให้ยังคงเป็นเเหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของโลก การส่งเสริมความยั่งยืนทั้งในเชิงวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมการเติบโตอย่างมีดุลยภาพทั้งในเชิงพื้นที่ เวลา และกลุ่มนักท่องเที่ยวบนพื้นฐานวิถีไทย และการสร้างเสริมประสบการณ์ท้องถิ่น เพื่อการกระจายรายได้เเละผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวสู่ทุกพื้นที่เเละภาคส่วนอันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของเศรษฐกิจและสังคมของชาติ โดยจัดทำเป็น 6 ยุทธศาสตร์ กล่าวคือ
ยุทธศาสตร์ที่ ๑ การพัฒนาคุณภาพแหล่งท่องเที่ยว และสินค้า บริการด้านการท่องเที่ยว รวมถึงการส่งเสริมความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม และอัตลักษณ์วิถีไทย
ยุทธศาสตร์ที่ ๒การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการท่องเที่ยวโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
ยุทธศาสตร์ที่ ๓ การพัฒนาขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ด้านการท่องเที่ยวและสร้างจิตสำนึกด้านการท่องเที่ยวสำหรับประชาชน
ยุทธศาสตร์ที่ ๔ การสร้างสมดุลในนักท่องเที่ยวกลุ่มต่างๆผ่านการตลาดเฉพาะกลุ่ม การส่งเสริมวิถีไทยและการสร้างความมั่นใจของนักท่องเที่ยว
ยุทธศาสตร์ที่ ๕ การส่งเสริม การมีส่วนร่วม และบูรณาการของภาครัฐ เอกชน และชุมชน ในการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว รวมถึงการร่วมมือระหว่างประเทศ
ด้วยการขับเคลื่อนแผนฯ ไปสู่การปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพและมีความสอดคล้องกัน3ระดับคือ ระดับนโยบาย มีคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ พิจารณากำหนดนโยบายหรือให้ความเห็นกำกับดูแลนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการท่องเที่ยวระดับการขับเคลื่อนแผนโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นเจ้าภาพหลักรับผิดชอบในการรับการผลักดันแผนในแต่ละยุทธศาสตร์ไปสู่ระดับการปฏิบัติการ และระดับปฏิบัติการโดยส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเป็นผู้รับนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้สอดประสานงานและเชื่อมโยงการดำเนินงานให้มุ่งสู่การขับเคลื่อนแผนในแต่ละยุทธศาสตร์
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการวิพากษ์ร่างแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 2 อย่างกว้างขวาง ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและบริษัทที่ปรึกษา จะได้รวบรวมและนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์ไปใช้ในการพิจารณาจัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ให้เกิดความสมบูรณ์ต่อไป
ข่าวเด่น