วันนี้(14 กรกฎาคม 2559) นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงหยุดยาววันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษาที่จะถึงนี้ ประชาชนจำนวนมากจะเดินทางกลับภูมิลำเนา และมีการพบปะญาติพี่น้องและเพื่อนๆเกิดขึ้น ซึ่งอาจมีการจัดเลี้ยงหรือทำอาหารรับประทานร่วมกัน ดังนั้นจึงควรระวังในเรื่องการบริโภคสุกๆดิบๆ โดยเฉพาะเนื้อหมูที่ชำแหละกันเองในหมู่บ้าน และนำมากินดิบๆ หรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ หลู้หมูดิบ หมูกระทะปิ้งย่างไม่สุก จิ้มจุ่มที่ต้มไม่สุก เสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับ หรือโรคติดเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส และอาจทำให้หูหนวกถาวรหรือเสียชีวิตได้
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อว่า จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 7 กรกฎาคม 2559 พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับแล้ว 161 ราย เสียชีวิต 11 ราย กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุด คือ อายุ 65 ปีขึ้นไป (33.5%) รองลงมา คือ 45-54 ปี (28%) และ 55-64 ปี (21.7%) จังหวัดที่อัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ น่าน อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ พะเยา และอุทัยธานี ส่วนภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือภาคเหนือ รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับในภาคเหนือสูงถึง 114 ราย คิดเป็น 70.8% ของผู้ป่วยทั้งหมด
โรคไข้หูดับเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในกระแสเลือดของหมูที่กำลังป่วย โรคนี้สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ 1. การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ รวมทั้งเนื้อหมู เครื่องในหมู และเลือดของหมูที่เป็นโรค โดยติดต่อสู่คนทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา 2.การกินหมูดิบๆ หรือสุกๆดิบๆ ทั้งเนื้อ เครื่องใน และเลือด ซึ่งเชื้อจะเข้าไปทำให้เยื่อหุ้มสมอง เยื่อบุหัวใจ อักเสบ และที่สำคัญคือทำให้ประสาทหูทั้ง 2 ข้างอักเสบและเสื่อมจนหูหนวก
ทั้งนี้ ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคไข้หูดับคือ ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรคโดยตรง เช่น ผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู เป็นต้น กลุ่มที่เสี่ยงมีอาการป่วยรุนแรงถ้าติดเชื้อ ได้แก่ ผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ไต มะเร็ง หัวใจ ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น เนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคอ่อนแออยู่แล้ว
สำหรับผู้ที่ได้รับเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส เข้าไปในร่างกาย จะป่วยหลังติดเชื้อประมาณ3-5 วัน อาการที่พบ คือไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูดับ ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด สำหรับ วิธีการป้องกันที่ดีที่สุด สำหรับประชาชนคือ 1.กินหมูสุกเท่านั้น โดยปรุงเนื้อหมูให้สุกทั่วถึงด้วยความร้อนหรือทำให้สุกจนเนื้อไม่มีสีแดง ไม่กินสุกๆ ดิบๆ และควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสดหรือห้างสรรพสินค้า ซึ่งจะผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ 2.ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรค โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบู๊ทยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง
“หากประชาชนมีอาการป่วยหลังสัมผัสหมูที่ป่วยหรือหลังกินอาหารที่ปรุงมาจาก เนื้อหมู เลือดดิบๆ หรือปรุงสุกๆ ดิบๆ ให้รีบพบแพทย์ทันทีและต้องบอกประวัติการกินหมูดิบให้ทราบด้วย เพราะหากมาพบแพทย์เร็วจะช่วยลดอัตราการหูหนวกและเสียชีวิตได้ เนื่องจากโรคนี้รักษาหายและมียารักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นายแพทย์อำนวย กล่าวปิดท้าย
ข่าวเด่น