ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
สภากทม. เสนอเก็บค่าบำบัดน้ำเสียแบ่งเป็น 3 ประเภท


 


ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานครสมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 3 (ครั้งที่2) ประจำปี 2559 เมื่อ 13 ก.ค. โดยมี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร

ในที่ประชุม พล.อ.โกญจนาท จุณณะภาต สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทาง การบังคับใช้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย การบริหารทรัพยากรน้ำ และการบำบัดน้ำเสีย ได้รายงานผลการศึกษาพร้อมข้อเสนอเพื่อให้ฝ่ายบริหารนำไปพิจารณาดำเนินการ อาทิ กรณีโรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดง ควรเพิ่มปริมาณการรวบรวมน้ำเสียในพื้นที่บริการที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันที่ยังไม่เข้าระบบประมาณ 1,000 ลบ.ม.ต่อวัน ให้เข้าระบบก่อน และขยายพื้นที่รับน้ำเสียที่ไหลลงคลองแสนแสบช่วงคลองตันสนถึงคลองตันอีก 24,000ลบ.ม.ต่อวัน ให้เข้าระบบด้วย
 
อีกทั้งโรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดงควรเร่งศึกษาและพัฒนาปรับปรุงระบบน้ำเสีย โดยมีทางเลือก 2 วิธี คือ ให้เพิ่มความสามารถในการบำบัดเป็น 420,000 ลบ.ม.ต่อวัน เพื่อรองรับน้ำเสียที่เพิ่มขึ้นจากพื้นที่เขตห้วยขวาง และพื้นที่เขตวังทองหลาง ซึ่งเทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถเพิ่มขีดความสามารถของระบบบำบัดน้ำเสียได้ เนื่องจากการก่อสร้างเฉพาะท่อรวบรวมน้ำเสียเพื่อรับน้ำเสียจากทั้ง2 เขต ที่เพิ่มขึ้น จะมีค่าลงทุนน้อยกว่าการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง ที่วังทองหลาง ดังนั้นจึงควรเสนอของบประมาณรวมทั้งสำรวจและออกแบบรายละเอียดต่อไป ส่วนอีกวิธีคือให้รับน้ำเสียในเขตห้วยขวางและวังทองหลางให้เต็มขีดความสามารถของระบบ 340,000 ลบ.ม.ต่อวัน

เสนอยกเว้นค่าธรรมเนียมผู้ใช้น้ำไม่เกิน 10 ลบ.ม.ต่อเดือน

พล.อ.โกญจนาท กล่าวต่อเพิ่มเติ่มว่า สำหรับแนวทางการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานครนั้น คณะกรรมการฯ มีข้อเสนอแนะในการคิดคำนวนอัตราค่าธรรมเนียมฯ โดยการแบ่งเป็นแหล่งกำเนิดน้ำเสีย3ประเภท ประเภทแรกบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ที่มีปริมาณน้ำเสียเกิน 10 ลบ.ม.ต่อเดือน แต่ไม่เกิน 100 ลบ.ม.ต่อเดือน ให้เก็บค่าบริการแบบเหมาจ่าย 30 บาท/เดือน/หลังคาเรือน โดยให้เจ้าหน้าที่เก็บค่าบริการขยะเป็นผู้จัดเก็บตามบ้านเรือน ทั้งนี้สำหรับผู้ที่ใช้น้ำไม่เกิน 10 ลบ.ม.ต่อเดือน จะได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม
 
ประเภทที่สอง หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ มูลนิธิ ศาสนสถาน โรงพยาบาล สถานศึกษา สถานที่ประกอบธุรกิจขนาดเล็กซึ่งไม่ใช่โรงงาน ให้เก็บค่าธรรมเนียมในลักษณะอันตรภาคชั้นตามปริมาณการใช้น้ำประปาในแต่ละช่วง คือ ปริมาณน้ำเสียไม่เกิน 500 ลบ.ม.ต่อเดือน คิดอัตรา 500 บาท/เดือน/หลังคาเรือน ปริมาณน้ำเสียเกิน 500 ลบ.ม.ต่อเดือน แต่ไม่เกิน 1,000 ลบ.ม.ต่อเดือน คิดอัตรา 1,000บาท/เดือน/หลังคาเรือน และปริมาณน้ำเสียเกิน 1,000 ลบ.ม.ต่อเดือน ให้คิดอัตรา 1,500บาท/เดือน/หลังคาเรือน สำหรับประเภทที่สาม โรงแรม โรงงาน สถานประกอบการขนาดใหญ่ ให้จัดเก็บค่าธรรมเนียมตามปริมาณที่ใช้น้ำประปาจริง โดยคิดอัตราค่าธรรมเนียมฯ 4 บาทต่อลบ.ม.
 
ทั้งนี้การจัดเก็บค่าธรรมเนียมแหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่สองและสาม ให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้กำหนดสถานที่รับชำระค่าเนียมตามความเหมาะสม รวมทั้งพิจารณาจัดเก็บเป็นรายเดือน ราย 3 เดือน หรือราย 6 เดือน รวมทั้งระยะเวลาการเริ่มต้นการจัดเก็บด้วย
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 ก.ค. 2559 เวลา : 16:53:36

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:16 pm