ฟิทช์ เรทติ้งส์ ระบุว่า บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC (BBB/AA(tha)/Stable) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับที่สองของประเทศไทยตามรายได้จากการให้บริการ เผชิญกับ ความท้าทายในการชิงส่วนแบ่งทางการตลาดกลับมาและรักษากำไรไม่ให้ปรับตัวลดลง และความท้าทายดังกล่าวจะเพิ่มแรงกดดันต่ออันดับเครดิตของบริษัทในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า
ฟิทช์คาดว่ารายได้จากการให้บริการของ DTAC จะปรับตัวลดลง 1.5%-2.0% ในปี 2559 (ปี 2558 ปรับตัวลดลง 3%) เนื่องจากบริษัทน่าจะยังคงสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดเนื่องจากการแข่งขันในธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยยังคงมีความรุนแรง รายได้จากการให้บริการของ DTAC ปรับตัวลดลง (เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) 9 ไตรมาสติดต่อกันจนถึงสิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 ในขณะที่ส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการ (ไม่รวมรายได้จากค่าเชื่อมโยงเครือข่าย) ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 27.5% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 (ปี 2558 อยู่ที่ 29.7% และ ปี 2557 อยู่ที่ 28.6%)
ฟิทช์คาดว่าสถานะทางการตลาดของ DTAC ไม่น่าจะปรับตัวดีขึ้นมากนักในปี 2559 เนื่องจากสภาพการดำเนินธุรกิจที่ยังคงมีการแข่งขันที่รุนแรง คู่แข่งของ DTAC น่าจะยังคงใช้กลยุทธ์ในการแข่งขันที่รุนแรงในการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด โดยฟิทช์คาดว่า บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS (BBB+/AA+(tha)/Stable) ต้องการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดให้กลับไปอยู่ที่ระดับเดิมที่ประมาณ 52% หลังจากส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 50% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 และไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 ในขณะที่ฟิทช์คาดว่าธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TrueMobile ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอันดับที่สามของประเทศ จะยังคงแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดเพื่อที่จะเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่อันดับที่สองของประเทศ
อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่าสถานะทางการตลาดของ DTAC ที่อ่อนแอลงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทในขณะนี้ เนื่องจากบริษัทยังคงมีความสามารถในการรองรับรายได้ที่ปรับตัวลดลงและกระแสเงินสดสุทธิที่ติดลบในระยะสั้น เนื่องจากสถานะทางการเงินปัจจุบันของบริษัทยังคงมีความแข็งแกร่ง นอกจากนี้บริษัทยังได้เปลี่ยนแปลงนโยบายการจ่ายเงินปันผลตั้งแต่ปี 2559 เป็นจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิ จากไม่ต่ำกว่า 80% ก่อนหน้านี้ ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงเงินทุนหมุนเวียน (Funds flow from operations – adjusted net leverage) ของ DTAC ที่ 1.8x ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 ยังคงสอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบันของบริษัทอยู่ และฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะอยู่ที่ 2.2x ณ สิ้นปี 2559
ฟิทช์เชื่อว่าคู่แข่งของ DTAC มีความได้เปรียบจากคลื่นความถี่ที่มีอยู่ โดยเฉพาะหลังจากที่ DTAC ไม่สามารถประมูลคลื่นความถี่ใหม่ได้ในปี 2558 และปี 2559 โดยคลื่นความถี่ที่บริษัทมีอยู่ในปัจจุบันจำนวน 35MHz นั้นอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานซึ่งมีระยะเวลาเหลือสำหรับใช้งานที่สั้นและจะหมดอายุในปี 2561 แม้ว่าบริษัทจะมีคลื่นความถี่รวมทั้งหมดถึง 50MHz (AIS มีคลื่นความถี่รวมทั้งหมด 40MHz และ TrueMobile มีอยู่ 55MHz) ในขณะที่คลื่น 2.1GHz จำนวน 15MHz ซึ่งอยู่ภายใต้ระบบใบอนุญาต นั้นไม่น่าจะเพียงพอในการรองรับการเติบโตของการใช้งานและการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีใหม่ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ดังนั้น DTAC ต้องบริหารจัดการการลงทุนและการใช้งานเครือขายระหว่างระบบใบอนุญาตและระบบสัมปทาน โดยพิจารณาค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากรายได้จากการให้บริการบนเครือข่ายระบบสัมปทานมีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้ภาครัฐรายปีสูงกว่าระบบใบอนุญาต
ฟิทช์คาดว่าการเติบโตของรายได้จากการบริการที่ไม่ใช่เสียง (Non-voice revenue) ซึ่งน่าจะอยู่ที่ระดับ 10%-15% ไม่น่าจะเพียงพอชดเชยรายได้จากบริการด้านเสียง (Voice revenue) ที่คาดว่าจะลดลง 15%-20% ในปี 2559 นอกจากนี้ฟิทช์ยังคาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า (EBITDAR) ของ DTAC จะปรับตัวลดลง 6% มาอยู่ที่ 2.53 หมื่นล้านบาท (ปี 2559: 2.92 หมื่นล้านบาท; ปี 2558: 3.24 หมื่นล้านบาท) เนื่องจากการรายได้ที่ลดลงและค่าใช้จ่ายด้านการตลาดที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการให้ส่วนลดค่าเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่
ข่าวเด่น