วันนี้ (ศุกร์ 15 กรกฎาคม 2559) ณ โรงแรม แชงกรี-ล่า กรุงอูลานบาตอร์ มองโกเลีย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมเต็มคณะ (Plenary) วาระที่ 2 หัวข้อ การส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนของอาเซม เพื่อความเชื่อมโยงที่กว้างขวางยิ่งขึ้น (Promoting ASEM Partnership for Greater Connectivity) ในโอกาสการประชุมสุดยอดอาเซม ครั้งที่ 11
พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีที่ได้มาร่วมการประชุมสุดยอดอาเซมอีกครั้ง ในโอกาสที่อาเซมครบรอบ 20 ปี เพื่อสานต่อความร่วมมือวางแนวทางอาเซมก้าวสู่ทศวรรษที่สาม ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา อาเซมได้ช่วยเชื่อมโยงให้เอเชียและยุโรปมีความสัมพันธ์และความเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น
ในทศวรรษที่สามนี้ อาเซมควรขับเคลื่อนความเชื่อมโยงให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ทั้งด้านกายภาพ (hard connectivity) และด้านที่จับต้องไม่ได้ (soft connectivity) และได้มีการจัดตั้งคณะทำงานด้านการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคทั้งสอง ร่วมกันดึงจุดแข็งของกันและกันเพื่อทำให้เกิดการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (inclusive and sustainable growth) เอเชียมีจุดแข็ง คือ เศรษฐกิจและตลาดที่มีขนาดใหญ่ มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ขณะที่ยุโรปมีจุดแข็ง คือความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม ความเข้มแข็งของระบบสวัสดิการสังคมและสิทธิมนุษยชน
ความเชื่อมโยงทางกายภาพ (hard connectivity) ที่สำคัญได้แก่ โครงการเชื่อมเครือข่ายการขนส่งและคมนาคมระหว่างประเทศสมาชิกอียู (Trans-European Networks) ของยุโรป One Belt, One Road ของจีน และความเชื่อมโยงกันของอาเซียน ตามแผนแม่บท (Master Plan on ASEAN Connectivity) จะช่วยเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งระหว่างกัน แต่จะต้องมีมาตรการรองรับผลกระทบเชิงลบต่าง ๆ จากการเชื่อมโยง เช่น การค้ามนุษย์ ยาเสพติด และอาชญากรรมข้ามชาติ ที่จะตามมา ตามที่เคยกล่าวไว้ในการประชุมสุดยอดอาเซมครั้งที่ 10 ที่มิลาน
สำหรับความเชื่อมโยงที่จับต้องไม่ได้ (soft connectivity) ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล ความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ ความเชื่อมโยงด้านความมั่นคงผ่านการปรึกษาหารือ ความเชื่อมโยงทางการท่องเที่ยว และความเชื่อมโยงประชาชนสู่ประชาชน กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอาเซม อาทิ รัฐสภา ภาคธุรกิจ เยาวชน และภาคประชาสังคม เป็นความเชื่อมโยงที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเพราะจะทำให้ประชาชนได้มีโอกาสใกล้ชิดและทำความเข้าใจกันมากขึ้น
นายกรัฐมนตรีจึงได้เสนอแนวคิดความเชื่อมโยงอาเซม 4 ประการ ดังต่อไปนี้ ประการแรก การเชื่อมโยงเพื่อร่วมกันรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ และภัยพิบัติ ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ซึ่งสามารถทำได้โดยการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคโนโลยี การส่งเสริมความร่วมมือทางวิจัย เช่น เอเชีย โดยเฉพาะอาเซียน เป็นแหล่งผลิตอาหารและพืชพลังงานที่สำคัญ ในขณะที่ยุโรปมีองค์ความรู้ นวัตกรรมที่สนับสนุนการเพิ่มผลผลิตและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สอง การเชื่อมโยงประชาชนสู่ประชาชน ด้วยการไปมาหาสู่กัน การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การศึกษา และการท่องเที่ยว จะทำให้สองภูมิภาคใกล้ชิดและเข้าอกเข้าใจกันยิ่งขึ้น รวมไปถึงแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในเรื่องต่าง ๆ ที่ช่วยส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ อาทิ การเข้าถึงระบบการคุ้มครองทางสังคม (social protection) ซึ่งไทยพยายามส่งเสริมเรื่องนี้ และมีความร่วมมือกับหลายประเทศในยุโรปและเอเชีย
สาม การเชื่อมโยงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยสอดคล้องกับวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2030 ของสหประชาชาติ ที่เน้นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ควบคู่กับการพัฒนา โดยคำนึงถึงศักยภาพและความพร้อมของแต่ละประเทศ โดยไม่ทิ้งประเทศใดไว้ข้างหลัง ซึ่งไทยในฐานะประธานกลุ่ม 77 วาระปี ค.ศ. 2016 ได้นำเสนอหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เป็นทางเลือกหนึ่งในการพัฒนา เพื่อให้เอเชียและยุโรปร่วมมือกันบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และปฏิญญาอูลานบาตอร์เกิดผลเป็นรูปธรรม
และประการที่สี่ การเชื่อมโยงเพื่อความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ การรื้อฟื้นการจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสและรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของอาเซม เพื่อหารือความเป็นไปได้ของเขตการค้าเสรีเอเชียและยุโรป จะทำให้เอเชียและยุโรปมีความเชื่อมโยงและปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การค้า การลงทุน และความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม ด้วย
ข่าวเด่น