ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) วันนี้ (15 ก.ค.) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ พร้อมด้วยนายนิธิต ภูริคุปต์ ผบ.สำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ร่วมกันแถลงผลดำเนินคดีกลุ่มบุคคลโฆษณาขายยาทำแท้ง (Cytolog และ MTPill) ผ่านเว็บไซต์
พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวว่าสืบเนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)รับผิดชอบดำเนินการ กรณีโฆษณาขายยาทำแท้งผ่านเว็บไซต์ http://โรงพยาบาลคลองตัน.com โดยผู้รับมอบอำนาจจากโรงพยาบาลคลองตันเป็นผู้ร้องทุกข์ และคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการสืบสวน สอบสวน จนมีการจับกุมผู้ต้องหาและศาลอาญาได้มีคำพิพากษาในคดีดำที่ อ.๑๐๓๕/๒๕๕๗ และคดีแดงที่ อ.๑๐๗๘/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๗ ซึ่งผู้ต้องหาทั้งสองให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาและศาลมีคำพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดจริง เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๗
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้นายนิธิต ภูริคุปต์ ผู้บัญชาการ สำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศและคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ทำการสอบสวนและขยายผลถึงตัวการสำคัญ จึงสืบสวนจากข้อมูลเว็บไซต์ที่ประกาศขายยาทำแท้ง 10 เว็บไซต์ พบว่า ข้อมูลผู้จดทะเบียนทั้งหมดมีความเกี่ยวข้องกัน และมีความเชื่อมโยงกับเว็บไซต์อื่นๆ ที่มีการโฆษณาในลักษณะเดียวกันอีกจำนวน 17 เว็บไซต์ มีการสั่งซื้อยาทำแท้งประมาณ 2-3 พันรายต่อเดือน ซึ่งตัวยา MTPill เป็นยาที่มีข้อบ่งใช้ทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลง และยังไม่เคยได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนตำรับยา จากการสืบสวนข้อมูลทางการเงินพบว่า บัญชีที่เกี่ยวข้องในการทำความผิดมีการถอนเงินสดออกทางตู้ ATM ครั้งละ 1,500,000 บาท เฉลี่ยเดือนละ 10-15 ล้านบาท
คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจึงได้นำหมายค้นศาลจังหวัดนครปฐม เข้าตรวจค้นสถานที่ใช้งาน Internet ตาม IP Address ในระบบคอมพิวเตอร์ จำนวน 8 แห่ง ดังนี้ 1.คลีนิคผู้ต้องสงสัย 2.บ้านตัวการ ซึ่งเป็นของหมอผู้ใหญ่ 3.บ้านผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดนครปฐม 4.สถานประกอบการลิสซิ่งของเครือข่ายผู้กระทำความผิด 5.สถานที่ทำการส่งยาทำแท้ง 6.บ้านผู้ต้องหาตามหมายจับ ที่ทำหน้าที่กดเงินที่ได้จากการขายยาทำแท้ง 7.อาคารพาณิชย์ของเครือข่าย จำนวน 2 แห่ง
จากการตรวจค้นพบเอกสารหลักฐานซึ่งจะสามารถดำเนินคดีกับตัวการได้ และสามารถจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับได้ 3 ราย โดยมีการดำเนินคดีตามข้อหาร่วมกันการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน และเผยแพร่ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ประกอบกับการโฆษณาและจำหน่ายยาแผนปัจจุบัน และยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๔ (๑) ประกอบกับพระราชบัญญัติยา พ.ศ.๒๕๑๐ มาตรา ๑๐ ๗๒ (๔) ๘๘ (๖) และ (๘)
กรมสอบสวนคดีพิเศษขอแจ้งประชาสัมพันธ์มายังประชาชนและผู้ปกครองให้เฝ้าระวัง เตือนบุตรหลานที่มีการสั่งซื้อยาทำแท้งทางเว็บไซต์โดยผิดกฎหมาย นอกจากตัวยา Cytolog และ MTPill จะมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพแล้ว ผู้ซื้ออาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมายเช่นกัน ทั้งนี้ หากสามารถจับกุมตัวการสำคัญซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำความผิด เช่น หมอผู้ใหญ่ในจังหวัดนครปฐม จะประชาสัมพันธ์ให้ทราบต่อไป
ด้าน นายนิธิต กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบแต่ละเดือนมียอดสั่งซื้อยาทำแท้งประมาณ 2,000-3,000 คนและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มีเงินหมุนเวียนที่ถอนออกจากบัญชีเฉลี่ยเดือนละ 10-15 ล้านบาท โดยยาที่นำมาประกาศขายถือเป็นยาต้องห้ามนำเข้า ยังไม่เคยได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนตำรับยา เพราะเป็นอันตรายทั้งยาเอ็มทีพิล ( MTPill) และยาไซโทลอค (Cytolog) ซึ่งทั้ง 2 ชนิดเป็นยาที่ใช้คู่กัน เพื่อยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งส่งผลข้างเคียงรุนแรงต่อสุขภาพ และถึงขั้นเสียชีวิต เบื้องต้นจากการตรวจค้นสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 3 ราย โดยแจ้งข้อหานำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน และเผยแพร่ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อยู่โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลเท็จ ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และการโฆษณาและจำหน่ายยาแผนปัจจุบันและยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพ.ร.บ. ยา และอยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐานเพื่อขอศาลอนุมัติหมายจับแพทย์ในจังหวัดนครปฐมที่เป็นตัวการสำคัญร่วมกระทำผิด รวมถึงเร่งดำเนินการด้านภาษีเพิ่มเติมด้วย
ข่าวเด่น