กรมประมงสั่งพักใบอนุญาตประกอบกิจการชั่วคราวฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์อุทัยรัชหลังเข้าตรวจสอบพบมีการเปิดให้นักท่องเที่ยวลงแพให้อาหารจระเข้ ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตราย
อธิบดีกรมประมงออกคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตให้จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะ ของบริษัท ฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์อุทัยรัช จำกัด เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีการแก้ไขระบบความปลอดภัยสำหรับประชาชนที่เข้าชมให้แล้วเสร็จ หลังจากที่ กรมประมงเข้าตรวจสอบแล้วพบว่าฟาร์มจระเข้ฯ ดังกล่าวเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปในบริเวณที่มีการเลี้ยงจระเข้ และลงแพเพื่อให้อาหารแก่จระเข้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่นักท่องเที่ยวได้
ตามที่ สื่อมวลชนแขนงต่างๆ รวมทั้งสื่อออนไลน์ ได้เผยแพร่ภาพกิจกรรมการท่องเที่ยวของฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์อุทัยรัช ด้วยการล่องแพในบึงเลี้ยงจระเข้ขนาดใหญ่ เพื่อให้อาหารจระเข้ กรมประมงในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในการพิจารณาอนุญาตให้จัดตั้งและดำเนินการกิจการสวนสัตว์สาธารณะให้ฟาร์มดังกล่าว ได้สั่งการให้สำนักงานประมงจังหวัดชลบุรีเข้าตรวจสอบพื้นที่สถานประกอบการ และจากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าฟาร์มจระเข้ฯ ดังกล่าว มีการให้บริการในลักษณะดังกล่าวจริง ซึ่งการให้บริการดังกล่าวมีความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่นักท่องเที่ยว อาจทำให้นักท่องเที่ยวได้รับอันตรายได้
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า การดำเนินกิจการในลักษณะดังกล่าว เข้าข่ายความผิดตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 9 ออกตามความในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ข้อ 14 (6) ที่กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขคือ จัดให้มีระบบความปลอดภัยสำหรับประชาชนที่เข้าชมและที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงสวนสัตว์ และตามมาตรา 43 กำหนดว่า “เมื่อปรากฏว่าผู้รับใบอนุญาตผู้ใด ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง ข้อกำหนด หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งตามพระราชบัญญัตินี้ อธิบดีมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ได้ไม่เกินเก้าสิบวัน” อธิบดีกรมประมงในฐานะผู้มีอำนาจ ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสัตว์น้ำ จึงออกคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตให้จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะของบริษัท ฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์อุทัยรัช จำกัด ไว้จนกว่าจะมีการแก้ไขระบบความปลอดภัยสำหรับประชาชนที่เข้าชมให้แล้วเสร็จ ทั้งนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน และให้สำนักงานประมงจังหวัดชลบุรี ติดตาม ตรวจสอบ การดำเนินการแก้ไขให้เกิดความปลอดภัยและเป็นไปตามกฎหมาย
พร้อมนี้ ได้กำชับให้สำนักงานประมงจังหวัดทุกจังหวัด เฝ้าระวังสถานประกอบการที่ได้รับอนุญาตในลักษณะเดียวกันนี้ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดด้วย
ข่าวเด่น