โฆษกรัฐบาลเผยสถานการณ์ของประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น บ้านเมืองสงบ เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ไม่หวั่นเหตุก่อกวนการลงประชามติ ย้ำเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมเดินหน้าแก้ปัญหาปากท้องต่อเนื่อง
พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์โดยรวมของประเทศในขณะนี้พบว่า มีแนวโน้มเป็นบวก ทั้งในด้านความสงบเรียบร้อย เศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นของต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการขับเคลื่อนประเทศตามโรดแมปและการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ แม้ว่าในบางประเทศจะมีเหตุก่อการร้ายและความไม่สงบเกิดขึ้น แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศ โดยรัฐบาลจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
“รัฐบาลได้รับความร่วมมือจากประชาชนส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทำให้บ้านเมืองเป็นปกติสุขเรียบร้อย นักลงทุนมีความเชื่อมั่น ยกเว้นยังมีบางกลุ่มบางพวกที่พยายามสร้างความปั่นป่วนในสังคม โดยเฉพาะยิ่งใกล้วันลงประชามติ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหว เพื่อป้องปรามพฤติกรรมที่อาจสร้างความเดือดร้อนแก่สังคม ภายใต้กรอบของกฎหมาย
ส่วนเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะมีทิศทางที่ดีขึ้น พี่น้องเกษตรกรเริ่มเพาะปลูกได้มากขึ้น การลงทุนภาครัฐและระดับพื้นที่เริ่มเห็นผล ตลาดหุ้นฟื้นตัว นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และนักลงทุนต่างประเทศให้ความสนใจเข้ามาลงทุน เพราะไทยมีความพร้อมหลายด้าน เช่น ทำเลที่ตั้ง โครงสร้างพื้นฐาน ฝีมือแรงงาน ฯลฯ รวมทั้งการให้สิทธิประโยชน์และการปรับปรุงระเบียบกฎเณฑ์ที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ”
พลตรี สรรเสริญ กล่าวต่อว่า ข้อมูลจากส่วนราชการและสถาบันการศึกษาวิเคราะห์ตรงกันว่า ประชาชนในประเทศเริ่มมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มทางเศรษฐกิจ จึงออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ และในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา คาดว่าจะมีมูลค่าการใช้จ่ายถึงกว่า 5,700 ล้านบาท
“รัฐบาลจะเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เบิกจ่ายงบประมาณ และออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นระยะ ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของเศรษฐกิจในแต่ละช่วง โดยตั้งแต่ 1 - 31 ส.ค.59 จะมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายสินค้าโอท็อป ภายใต้โครงการช้อปช่วยชุมชน โดยประชาชนสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าโอท็อปท้องถิ่นไปหักลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาได้ไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการผลิตสินค้า กระจายรายได้ไปยังชุมชน ก่อให้เกิดการหมุนเวียนเงินระดับฐานราก โดยจะไม่กระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐมากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าการใช้จ่ายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นถึง 10,000 ล้านบาท”
ข่าวเด่น