พาณิชย์เร่งส่งเสริม 'ธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุ' รองรับสังคมวัยทองเตรียม!! ดันไทยขึ้นเป็นศูนย์กลางธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุของโลก
‘พาณิชย์’ มองการณ์ไกล เร่งส่งเสริม “ธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุ” รองรับสังคมผู้สูงอายุที่เติบโตทั่วโลก พร้อมเตรียมดันไทยขึ้นเป็นศูนย์กลางธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุของโลก เหตุ...มีปัจจัยสนับสนุนหลายด้าน ทั้งสภาพแวดล้อม/จิตบริการ/สถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานระดับสากล คาดปี 2563 ทั่วโลกจะมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น เฉพาะประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุกว่า 13 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 19 เกือบ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งประเทศ
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เร่งส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานการบริหารจัดการ “ธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุ” ให้มีคุณภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ให้แก่ผู้ใช้บริการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ พร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ที่เติบโตเป็นอย่างมากทั่วโลก เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการ อาทิ คนไทยมีหัวใจบริการ ความสะดวกสบายในการรับบริการ ค่าใช้จ่ายความเหมาะสม สถานที่พักผ่อนที่หลากหลายสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคล รวมทั้งมีสถานบริการ ทางการแพทย์และสถานบริการสุขภาพที่ได้มาตรฐานสากล ทำให้ธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุของไทยสามารถตอบโจทย์ผู้สูงอายุจากทั่วทุกมุมโลกได้ครบทุกมิติ
กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้ไทยขึ้นเป็นศูนย์กลางธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุของโลก ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 ได้แก่ 1) สร้างองค์ความรู้ และเสริมสร้างศักยภาพด้านการบริหารจัดการ เพื่อยกระดับการบริการ ช่วยลดต้นทุนของกิจการและเพิ่มสัดส่วนรายได้ให้มากขึ้น ปัจจุบันมีธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุผ่านการพัฒนาในขั้นที่ 1 แล้ว จำนวน 442 ราย 2) การพัฒนาธุรกิจสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจ เป็นการสร้างศักยภาพในการแข่งขัน และสร้างให้ธุรกิจมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยทำการประเมินวิเคราะห์ธุรกิจ ตลอดจนการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก ณ สถานประกอบการ ในลักษณะ On the job training เพื่อให้ธุรกิจสามารถพัฒนาเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพได้ จนถึงปัจจุบันมีจำนวนธุรกิจที่ผ่านการพัฒนาในขั้นที่ 2 แล้ว จำนวน 55 ราย และขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาสู่ขั้นที่ 3 คือ การพัฒนาศักยภาพการตลาดให้สามารถสร้างเครือข่ายกับนักลงทุนหรือเครือข่ายนักธุรกิจในประเทศและต่างประเทศ
“ธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุ” หมายถึง สถานบริการที่ไม่ใช่โรงพยาบาล มีการให้บริการที่พำนักแก่ผู้สูงอายุ ที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเป็นประจำ โดยทั่วไปจะครอบคลุมการให้บริการที่พักค้างคืน บริการอาหาร การดูแลความสะอาดเสื้อผ้าและที่พัก ตลอดจนความสะอาดของร่างกาย พร้อมทั้งติดตามดูแลสุขภาพเบื้องต้นอย่างใกล้ชิด แต่ไม่ได้ให้การรักษาพยาบาล หากมีความเจ็บป่วยจะบริการนำส่งต่อแผนกคนไข้ของโรงพยาบาลใกล้เคียง เพื่อรับการรักษาพยาบาลต่อไป แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ 1) ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุกลุ่มเดย์แคร์ (Day Care) หรือ การบริการแบบไปเช้า-เย็นกลับ ซึ่งเป็นธุรกิจสำหรับผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองได้และมีญาติมารับ-ส่งเป็นรายวัน 2) ธุรกิจสถานบริการดูแลระยะยาว (Long Stay) ที่ผู้สูงอายุอาศัยในสถานบริการนั้นเลย หรืออาศัยในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยญาติที่ไม่มีเวลาดูแลจะนำผู้สูงอายุมาฝากดูแล และมาเยี่ยมเป็นครั้งคราว และ 3) ธุรกิจที่บริการส่งผู้ดูแล ให้ไปดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน
ปัจจุบัน ธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวและสถานพยาบาล มีจำนวนประมาณ 400 แห่ง โดยประมาณร้อยละ 49.28 ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร (ข้อมูล : งานวิจัยจากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย) และจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคล จำนวนทั้งสิ้น 146 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 1,307.17 ล้านบาท ทั้งนี้ แนวโน้มอัตราการเติบโตของผู้สูงอายุทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นมาก เฉพาะในประเทศไทยคาดว่า ปี 2563 จะมีผู้สูงอายุกว่า 13 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 19 หรือเกือบ 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ และ ปี 2573 จะมีจำนวนเพิ่มสูงถึง 17.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 26.57 หรือกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ (ข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)
ข่าวเด่น