ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
สบส. แนะผู้ป่วยเบาหวาน ความดัน หัวใจกว่า 7 ล้านคน 'สวดมนต์ สมาธิ'คุมอาการดีขึ้น


 


กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หนุนให้กลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ  ปฏิบัติธรรมะคือสวดมนต์ ทำสมาธิ ควบคู่กับการคุมอาหาร กินยา ออกกำลังกาย หนุนประสิทธิภาพการรักษา หลังทดลองในชุมชนพื้นที่12 จังหวัดพบว่า สุขภาพดีขึ้นร้อยละ 83  ลดการไปหาหมอ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังในโรงพยาบาลมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพกว่าร้อยละ 60 เผยสถิติล่าสุดในปี 2558 คนไทยป่วย 3 โรคนี้รวมกว่า 7 ล้านคน มากที่สุดในกลุ่มสูงอายุรวมกว่า 4 ล้านคน และยังพบในเด็กวัยต่ำกว่ามัธยมต้น ป่วยกว่า 15,000 คน

นายแพทย์ภานุวัตน์ ปานเกตุ โฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ประชาชนไทยมีแนวโน้มป่วยจากโรคเอ็นซีดีหรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากขึ้น โดยเฉพาะ 3 โรคที่เปรียบเสมือนเป็นเพื่อนสนิทกัน ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจและหลอดเลือด รายงานของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งไม่รวมกทม. ล่าสุดในปี 2558 จำนวนเพิ่มเป็น 7,622,455 คน มากที่สุดคือโรคความดันโลหิตสูง 5 ล้านกว่าคน บางคนป่วยมากกว่า 1 โรค  ผู้ป่วยกว่าครึ่งเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และพบในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี รวม 15,747 คน สะท้อนถึงการใช้พฤติกรรมชีวิตประจำวันที่ขาดและเกิน เช่นขาดการออกกำลังกาย กินผักผลไม้น้อย กินอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็มมากเกินไป

นายแพทย์ภานุวัฒน์ กล่าวว่า ในการพัฒนาตำบลจัดการสุขภาพ สร้างการมีส่วนร่วมประชาชนในการดูแลสุขภาพ ชุมชนมีความเข้มแข็งในการส่งเสริมสุขภาพตนเอง กรม สบส.ได้ร่วมมือกับมูลนิธิอุทัย สุดสุข ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ ส่งเสริมประชาชนในชุมชนที่ป่วยเรื้อรัง 3 กลุ่มโรคที่กล่าวมา ได้ปฏิบัติศาสนธรรมคือการสวดมนต์และทำสมาธิ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่ใกล้วิถีชีวิต ไม่มีค่าใช้จ่าย ทำควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรมตามหลักการของแพทย์คือ การคุมอาหาร การออกกำลังกาย การปรับอารมณ์และการกินยาตามแพทย์สั่ง   เนื่องจากมีผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ พบว่าการสวดมนต์ การทำสมาธิ ทำให้จิตใจสงบ ปรับสมดุลและสารเคมีในร่างกาย ช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมอาการได้ดีขึ้น โดยนำร่องศึกษาในชุมชนของ 12 จังหวัดทั่วประเทศ อาทิ  ลำพูน  กำแพงเพชร ชลบุรี  ชัยภูมิ ตรัง พังงา กาญจนบุรี ในปี 2557  ซึ่งได้บูรณาความร่วมมือ 5 องค์กรเครือข่าย ได้แก่ ภาคประชาชน คือ อสม.เป็นแกนหลัก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล วัด โรงเรียน และองค์การบริหารส่วนตำบล  ผลพบว่าผู้ป่วยในชุมชนมีสุขภาพดีขึ้นมากถึงร้อยละ 83   ไม่เครียด ระดับน้ำตาลและความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนผู้ป่วยโรคเรื้อรังในโรงพยาบาล มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาของแพทย์ดียิ่งขึ้น   

นายแพทย์ภานุวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ในปี 2559 ได้ขยายผลการสวดมนต์และทำสมาธิลงสู่ชุมชน โดยร่วมกับมูลนิธิพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐาน มูลนิธิแสงสิทธิการ มูลนิธิอุทัย สุดสุข และมูลนิธิไพจิตร ปวะบุตร จัดอบรมวิทยากรทั้ง 5 องค์กรเครือข่าย เพื่อนำไปขยายผลเข้าสู่ตำบลจัดการสุขภาพแบบบูรณาการ รวม 88 ตำบล ใน 12 เขตสุขภาพ   

ทางด้านนายแพทย์อุทัย  สุดสุข ประธานที่ปรึกษามูลนิธิอุทัย สุดสุข กล่าวว่า การสวดมนต์ และทำสมาธิ จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยเรื้อรังรายใหม่ และป้องกันอาการกำเริบหรือเกิดโรคแทรกซ้อนในกลุ่มที่ป่วยแล้ว ลดความถี่ไปโรงพยาบาล ลดการกินยา ลดค่าใช้จ่ายครัวเรือนได้ เนื่องจากระดับความดังของเสียงและคลื่นเสียงสูง-ต่ำของการสวดมนต์สม่ำเสมอเป็นเวลา  10-15 นาที จะมีผลให้ก้านสมองหลั่งสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่าซีโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งมีฤทธิ์คล้ายยานอนหลับ จะลดความเครียด อาการซึมเศร้าและระดับน้ำตาลในเลือดได้  สำหรับการทำสมาธิหรือการปฏิบัติสมาธิซึ่งเป็นการทำให้ภาวะจิตแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้งในสิ่งนั้น    ผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่าการปฏิบัติสมาธิวันละ 2 ครั้งต่อเนื่องเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ทำให้การทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติลดลง จึงทำให้ระดับความดันโลหิตลดลง และลดอัตราการเต้นของหัวใจ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งความดันโลหิตลดลง  

นอกจากนี้ยังมีผลการวิจัยที่พบว่าการปฏิบัติสมาธินาน 40 นาที จะลดระดับความเครียด ส่งผลให้ต่อมหมวกไตลดการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นตัวทำให้สารเคมีต่างๆในร่างกาย เช่น น้ำตาลในเลือด อินซูลินมีการเปลี่ยนแปลงส่งผลให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น  หากปฏิบัติสมาธิติดต่อกัน 2 สัปดาห์ จะลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ ลดการอยากสูบบุหรี่ รวมทั้งการปฏิบัติสมาธิ ยังทำให้เกิดสารสุขคือ เมลาโทนิน (Melatonin) ที่หลั่งจากต่อมไพเนียลในสมอง ทำหน้าที่ควบคุมการหลับการตื่นนอน และทำให้ภูมิต้านทานในร่างกายเพิ่มขึ้น ใบหน้าผ่องใส  นอนหลับง่าย ความจำดีขึ้น เกื้อกูลต่อสุขภาพร่างกาย สามารถชะลอความแก่ได้ด้วย ดังนั้นจึงมีประโยชน์ทั้งผู้ป่วยและผู้ที่ยังไม่ป่วย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่เผชิญกับความเปลี่ยนแปลง เช่น ร่างกายเคลื่อนไหวได้ช้าลง  รู้สึกโดดเดี่ยว หากให้สวดมนต์ทำสมาธิจะช่วยให้มีพลังในตนเอง รู้จักตนเอง มีความมั่นใจ สามารถเผชิญความเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น   
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 ก.ค. 2559 เวลา : 12:11:41

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 1:49 am