ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ชี้ช่องอุตฯอาหารไทยสร้างเครือข่ายการผลิตใหม่ในตลาดโมร็อกโก


 


สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยข้อมูลการสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางการผลิตใหม่ในโมร็อกโกที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าประมงอันดับ 1 ในภูมิภาคแอฟริกา   แนะอุตสาหกรรมแปรรูปประมงของไทยร่วมทุนกับโมร็อกโก  ชี้ไทยควรใช้จุดแข็งด้านความชำนาญในการผลิต และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมน้ำมันปลา ต่อยอดสู่อุตสาหกรรมยา อาหารเสริม รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทานอื่นๆ ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในภูมิภาคใกล้เคียง ใช้ความได้เปรียบด้านการแข่งขันของโมร็อกโกในตลาดสหภาพยุโรป เพื่อลดอุปสรรคด้านการกีดกันทางการค้าที่ไทยประสบอยู่ เชื่อมต่อด้านการผลิตและการตลาดร่วมกัน เพิ่มช่องทางการขยายตลาดใหม่ เช่น ภูมิภาคแอฟริกา นำไปสู่ความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมทั้งสองประเทศ 
 

ฝ่ายวิจัยและข้อมูล สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยผลการศึกษาเรื่อง  “รูปแบบการสร้างเครือข่ายการผลิตอุตสาหกรรมอาหารของไทยในโมร็อกโก” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิจัย “แนวทางการสร้างเครือข่ายการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารเพื่อรองรับการขยายตัวในตลาดใหม่ : MENA” (Middle East & North America) พบว่า โมร็อกโก เป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีเสถียรภาพและการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่โดดเด่น โดยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 3.75 ต่อปี (ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2556 - 2561) หากพิจารณาขีดความสามารถการแข่งขันด้านเศรษฐกิจ โมร็อกโกจัดเป็นอันดับ 9 ของภูมิภาค MENA และเป็นอันดับที่ 72 ของโลกจาก 140 ประเทศทั่วโลกโดยการจัดลำดับโดย World Economic Forum ในปี พ.ศ. 2558 -2559 คู่ค้าที่สำคัญของโมร็อกโกได้แก่ กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ได้รับสถานภาพพิเศษกับสหภาพยุโรปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 การทำความตกลง FTA สินค้าเกษตรระหว่างสหภาพยุโรปกับโมร็อกโก โดยยุโรปเป็นทั้งตลาดส่งออกและตลาดแรงงานที่สำคัญ นอกจากนี้ โมร็อกโกยังได้มีการลงนามเขตการค้าเสรีกับสหรัฐอเมริกาและตุรกีในช่วงที่ผ่านมา

 
สินค้าส่งออกสำคัญคือ ประมง ซาร์ดีนกระป๋อง สินค้านำเข้าสำคัญ คือ ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าว น้ำตาล น้ำมัน ไขมัน ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากแป้งข้าว   รัฐบาลโมร็อกโกมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ ด้วยการออกมาตรการสำคัญหลายด้านที่เอื้อต่อการลงทุน 

อุตสาหกรรมประมง นับเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของโมร็อกโก ในการสร้างรายได้ให้กับประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยมูลค่าการส่งออกในปี พ.ศ. 2556  อยู่ที่ 11.7 พันล้านเดียร์แฮม หรือราว 41.6 พันล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ 58 ของมูลค่าการส่งออกอาหารทั้งหมด และร้อยละ 6.8 ของการส่งออกสินค้าทั้งหมด เป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าประมง อันดับ 1 ในภูมิภาคแอฟริกา เป็นแหล่งวัตถุดิบสินค้าประมงที่สำคัญจัดเป็นอันดับที่ 18 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคแอฟริกา รองจากประเทศอียิปต์ ปริมาณผลผลิตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ประมาณ 1.087 ล้านตัน (ปี พ.ศ. 2551-2555) ประเภทสัตว์น้ำที่จับจากธรรมชาติเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม ได้แก่ ทูน่า ซาร์ดีน แมคเคอเรล  หมึก  โดยมีปริมาณที่จับได้ประมาณ 800,000 ตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 70 ของปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ทั้งหมด 

จุดแข็งของโมร็อกโกในอุตสาหกรรมประมง คือ เป็นผู้นำด้านการส่งออกซาร์ดีนกระป๋อง ส่งออกไปมากที่สุดในตลาดสหภาพยุโรป มีปริมาณวัตถุดิบที่อุดมสมบูรณ์และราคาถูก มีแรงงานคุณภาพจำนวนเพียงพอและค่าจ้างไม่สูงมากนัก กระบวนการผลิตค่อนข้างมีประสิทธิภาพและทันสมัย มีชื่อเสียงที่ดีในตลาดโลก โดยเฉพาะซาร์ดีนกระป๋อง มีการพัฒนาซาร์ดีนแบบไร้หนังไร้ก้าง เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างภาพลักษณ์ให้กับตราสินค้ามากขึ้น
 
 
 
ปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมประมงในโมร็อกโก มีจำนวน 412 โรงงาน มีธุรกิจบริษัทเดินเรือประมง319 บริษัท อุตสาหกรรมซาร์ดีนบรรจุกระป๋อง มีจำนวนผู้ผลิตประมาณ 43 ราย และมีการจ้างงาน 21,000 คน  การถนอมอาหารขั้นต้น เช่น การหมักเกลือ มีผู้ผลิตประมาณ 20 ราย อุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็ง ส่วนใหญ่เป็นซาร์ดีน แมคเคอเรล แอนโชวี่ และหมึก มีการจ้างงานราว 6,000 คน อาหารทะเลสด มีผู้ผลิตประมาณ 40 ราย และมีการจ้างงานประมาณ 3,000 ราย อุตสาหกรรมน้ำมันปลาและปลาป่น ยังมีผู้ผลิตจำนวนน้อย และมีการจ้างงานประมาณ 1,000 ราย
“จากการเปรียบเทียบความสามารถในการแข่งขันและปัจจัยที่มีผลต่อขีดความสามารถด้านการ

แข่งขันของอุตสาหกรรมประมงในภาพรวมระหว่างไทยและโมร็อกโก จะพบว่าโมร็อกโกมีปัจจัยเอื้อหลายประการต่ออุตสาหกรรมประมง ส่วนประเทศไทยจะพบว่าอุตสาหกรรมประมงในภาพรวมเริ่มสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันในด้านปัจจัยการผลิตและการตลาด ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ไทยจะสร้างพันธมิตรเพื่อเชื่อมต่อด้านการผลิตและการตลาดร่วมกัน และเพื่อเป็นการลดอุปสรรคทางการค้า โดยใช้ปัจจัยสนับสนุนในโมร็อกโก ได้แก่ การใช้ประโยชน์ด้านวัตถุดิบประมงในโมร็อกโก ที่มีปริมาณมากและมีคุณภาพสูง เพื่อลดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบการผลิต และเพื่อเพิ่มช่องทางการขยายตลาดใหม่ เช่น ภูมิภาคแอฟริกา ใช้ความได้เปรียบด้านการแข่งขันของโมร็อกโกในตลาดสหภาพยุโรป (ซึ่งไทยประสบปัญหามาตรการ IUU Fishing ของสหภาพยุโรป) ขณะที่จำนวนแรงงานในโมร็อกโก สามารถรองรับภาคอุตสาหกรรมได้อย่างเพียงพอ”  
นอกจากนี้ ยังพบว่าการทำอุตสาหกรรมประมงในโมร็อกโก มีส่วนเหลือใช้ที่สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม (High value fishery products) ได้อีก คือ การสร้างพันธมิตรทางการผลิต ในรูปแบบทำข้อตกลงกันระหว่างอุตสาหกรรมหรือกิจการของไทยในโมร็อกโก เพื่อการนำส่วนเหลือใช้ (waste/by products) มาเพิ่มมูลค่าเป็นน้ำมันปลา ในรูปของ Crude oil เพื่อกระจายเข้าสู่อุตสาหกรรมการสกัดน้ำมันปลา และ Distilled fish oil เพื่อกระจายเข้าสู่อุตสาหกรรมยา อาหารเสริม และเครื่องสำอางค์ รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทานอื่นๆ ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในภูมิภาคใกล้เคียง เป็นต้น

โดยรูปแบบ หรือลักษณะของธุรกิจประมงที่มีโอกาสในการสร้างเครือข่ายกับโมร็อกโก คือ การสร้างพันธมิตรทางการผลิต (Production Strategic Alliance) ให้กับประมงของไทย ให้มีโอกาสเพิ่มความสามารถในการทำกำไร (Profitability) ที่เกิดจากการร่วมทุน การนำไปสู่การลดต้นทุนวัตถุดิบ การเพิ่มคุณค่า/มูลค่าสินค้า (Value added) เพื่อเข้าสู่ตลาดใหม่ตามเป้าหมายที่ทั้งสองฝ่ายกำหนดร่วมกัน จะส่งผลให้อุตสาหกรรมหรือกิจการของไทยและโมร็อกโกนำไปสู่ความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมทั้งสองประเทศ  ซึ่งการลงทุนควรทำในรูปแบบกิจการร่วมค้า หรือ Joint Venture กับนักธุรกิจในประเทศโมร็อกโก สร้างพันธมิตรทางการผลิตและการตลาดระหว่างผู้ประกอบการไทยและโมร็อกโก ผ่านสมาคมนักธุรกิจไทย-โมร็อกโก ทั้งนี้ผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีศักยภาพ ได้แก่   Damsa ในกลุ่ม Copelit Group ,  Avero Moroc บริษัทในเครือ GB (Groupe Bicha)  เป็นต้น
 

บันทึกโดย : วันที่ : 20 ก.ค. 2559 เวลา : 12:28:29

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 1:39 am