กระทรวงเกษตรฯ เผยตุรกียอมปรับลดอัตราการตรวจสอบ GMO ในสินค้าเกษตรไทยลง 50 % พร้อมเตรียมเร่งเจรจาผลักดันปลดล็อคยกแผง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการที่ตุรกีได้ออกกฎระเบียบให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบการปนเปื้อนจีเอ็มโอ (GMO) ในสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์นำเข้าเข้มงวดมากขึ้นถึง 50 - 100 % โดยประกาศเป็นรายชื่อสินค้า รายชื่อประเทศ และศักยภาพการสุ่มตรวจแต่ละรายการ ทำให้ประเทศผู้ส่งออกสินค้าไปยังตุรกีได้รับผลกระทบจากการออกกฎระเบียบดังกล่าว จำนวน 28 ประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น และประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ รวมทั้งไทย ซึ่งมีสินค้าที่ต้องถูกตรวจสอบการปนเปื้อน GMO 4 รายการ ได้แก่ ข้าว แป้งข้าวโพด และขนมขบเคี้ยวทำจากข้าวโพด ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ และมะละกอและผลิตภัณฑ์
“กฎระเบียบดังกล่าวได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสินค้า 4 รายการของไทยที่ส่งออกไปยังตุรกี ถึงแม้จะมีมูลค่าไม่มากนัก ประมาณ 300 - 500 ล้านบาท/ปี แต่เป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ส่งออกที่ต้องตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อน GMO ในสินค้าที่ส่งออก 50 - 100 % ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นเพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจวิเคราะห์ GMO ค่อนข้างสูง ตัวอย่างละกว่า 3,000 บาท สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)จึงได้หารือกับตุรกีเพื่อขอปรับลดอัตราการตรวจสอบลงเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ซึ่งการเจรจาประสบผลสำเร็จ โดยตุรกียอมปรับลดอัตราการตรวจสอบ GMO ในสินค้าเกษตรไทย 4 รายการลง 50 %” พลเอก ฉัตรชัย กล่าว
นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสินค้าข้าวปรับลดการตรวจสอบเหลือ 25 % จากเดิมกำหนดไว้ 50 % แป้งข้าวโพดและขนมขบเคี้ยวทำจากข้าวโพด ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ มะละกอและผลิตภัณฑ์ ตุรกีลดการตรวจสอบเหลือ 50 % จากเดิมกำหนดไว้ 100 % หากแนบใบรับรองปลอด GMO ไปกับสินค้าด้วย อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมแผนเร่งผลักดันการเจรจากับตุรกีเพื่อปลดล็อคสินค้าทั้ง 4 รายการของไทย ออกจากบัญชีรายการและประเทศที่ตุรกีต้องตรวจสอบ GMO โดยเร็ว โดยเฉพาะข้าวเพื่อป้องกันผลกระทบต่อการส่งออกในระยะยาว” เลขาธิการ มกอช. กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังตุรกี ปีละ ประมาณ 4,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสินค้ายางพารา มูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท สำหรับสินค้า 4 รายการที่ต้องถูกตรวจสอบการปนเปื้อน GMO นั้น เป็นสินค้าข้าว ประมาณ 200 ล้านบาท และข้าวโพด ประมาณ 100 ล้านบาท
ข่าวเด่น