นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หน่วยรับเรื่องร้องเรียนและแก้ไขปัญหากระทรวงพาณิชย์ ได้รับเรื่องร้องเรียนช่วง 9 เดือน ของปีงบประมาณ 59(ต.ค.58-12ก.ค.59) จำนวน 1,367 ครั้ง โดยเป็นการร้องเรียนผ่านช่องทางของกระทรวงพาณิชย์ ณ หน่วยรับเรื่องร้องเรียนและแก้ไขปัญหา ทำเนียบรัฐบาล จำนวนรวม 19 ราย ส่วนที่เหลือเป็นการร้องเรียนผ่านช่องทางของกรมการค้าภายใน นอกจากนี้ ตั้งแต่ต้นปีกรมฯได้จับกุม ดำเนินคดี ร้านแผงลอย ร้านค้า และนิติบุคคลที่กระทำผิด โดยไม่แสดงราคาจำหน่ายปลีก หรือแสดงราคาจำหน่ายปลีกไม่ตรงกับราคาที่จำหน่าย แสดงราคาไม่ชัดเจน รวมทั้งไม่แสดงข้อความภาษาไทย รวม 125 ราย ปรับเป็นเงิน 256,400 บาท
ปัญหาที่มีการร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นการร้องเรียนกรณีไม่ติดป้ายแสดงราคาจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จ 558 ราย จำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จราคาแพง 265 ราย ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยวชามละ 50 บาท ใส่ถุง 60 บาท ใส่ถุงพิเศษ 70 บาท น้ำดื่มขวดราคา 25 บาท และอะไหล่รถยนต์ 39,055 บาท พร้อมกันนี้ยังร้องเรียน กรณีแสดงราคาจำหน่ายปลีกไม่ตรงกับราคาจำหน่าย 194 ราย ร้องเรียนร้านค้าบริการแต่งผมสุภาพสตรี ยางรถยนต์ เห็ด และขนม และพฤติกรรมอื่น ๆ อีก 331 ราย
"กรมฯได้ออกตรวจสอบตามร้านค้า ตลาดสด ในทุกพื้นที่ พร้อมออกตรวจสอบตามเรื่องที่ได้รับร้องเรียนมาต่อเนื่อง หากพบว่ามีผู้ที่ขายเกินราคาหรือไม่ติดป้ายแสดงราคาจริง ถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 คือปรับไม่เกิน 10,000 บาท และหากประชาชนพบเห็นการขายสินค้าเกินราคา สามารถร้องเรียนไปยังศูนย์รับเรื่องร้องเรียนราคาสินค้าสำนักงานการค้าภายในจังหวัดของแต่ละพื้นที่ได้เลย"
ในส่วนการจับกุมดำเนินคดีร้านค้าที่กระทำความผิดในช่วงครึ่งปีแรก ของปี2559 จำนวน 125 รายนั้น เป็นการตรวจสอบตามคำร้องเรียนเข้ามาจำนวน 319 คำร้อง พบการกระทำความผิดจำนวน 118 ราย และการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย พบกระทำความผิดจำนวน 7 ราย โดยได้จับกุมดำเนินคดีกับพ่อค้าแม่ค้าแผงลอยจำนวน 61 ราย ซึ่ง 49 ราย เป็นการกระทำความผิดเนื่องจากไม่แสดงราคาจำหน่ายและบริการ ปรับเป็นเงิน 24,400 บาท เช่น แผงลอยอาหารปรุงสำเร็จ เครื่องดื่ม ผักสดเครื่องบูชา ดอกไม้สด ผลไม้ เนื้อสุกรชำแหละ น้ำดื่ม หอยไก่สด และเครื่องประดับ, 10 ราย กระทำผิดเนื่องจากแสดงราคาจำหน่ายปลีกสินค้าและค่าบริการไม่ตรงกับราคาจำหน่ายและค่าบริการที่ให้บริการ ได้แก่ แผงลอยจำนวนอาหารปรุงสำเร็จ และสุกรชำแหละ และ 1 ราย เป็นแผงลอยขายผักสด แสดงราคาจำหน่ายปลีกไม่ชัดเจนปรับไป
ด้านร้านค้าที่ถูกดำเนินคดีมีจำนวน 38 ราย โดย 27 ราย เป็นการทำผิดเนื่องจากไม่แสดงราคาจำหน่ายและค่าบริการ เช่น ร้านค้าอาหารปรุงสำเร็จ ค่าบริการอัดฉีดรถ กาว ค่าบริการตัดแต่งผมบุรุษและสตรีนมปรุงแต่ง ค่าซ่อมรถ ก๊าซหุงต้ม ค่าพิมพ์เอกสารน้ำดื่ม น้ำแข็ง ตัดเย็บเสื้อผ้า และร้านจำหน่ายอุปกรณ์การเลี้ยงสัตว์, 1 ราย ซึ่งเป็นในร้านจำหน่ายเครื่องดื่มที่ไม่แสดงข้อความหรือรายการที่ควบคู่ราคาจำหน่ายเป็นภาษาไทย, 6 ราย เป็นร้านค้าที่ไม่แสดงราคาจำหน่ายปลีกสินค้าและค่าบริการไม่ตรงกับราคาที่ให้บริการ ถูกดำเนินคดี เช่น ค่าบริการพิมพ์เอกสารเย็บเล่ม อาหารปรุงสำเร็จ และ 2 ราย ไม่แสดงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ควบคู่กับการแสดงราคาจำหน่ายปลีก
ขณะที่นิติบุคคลที่ถูกจับกุมดำเนินคดีมีจำนวน 26 ราย มี 6 ราย ไม่แสดงราคาจำหน่าย มีคือธุรกิจเครื่องสำอาง อาหารปรุงสำเร็จ น้ำแร่และเครื่องดื่ม, 4 ราย ไม่แสดงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ควบคู่ไปกับการแสดงราคาจำหน่ายปลีก, 11 ราย ไม่แสดงข้อความหรือรายการที่ควบคู่ราคาจำหน่ายเป็นภาษาไทย และ 5 รายแสดงราคาจำหน่ายปลีกไม่ตรงกับราคาจำหน่ายรวม
ข่าวเด่น