นางสาวชุติมา บุญยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการเดินทางเยือนสาธารณรัฐเคนยาและสาธารณรัฐโมซัมบิก พร้อมด้วยนางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และตัวแทนภาคเอกชนสินค้าศักยภาพในตลาดแอฟริการวมกว่า 16 ราย เดินทางระหว่างวันที่ 10-16 กรกฎาคม 2559 เป็นกิจกรรมสำคัญตามยุทธศาสตร์กระทรวงพาณิชย์ มุ่งเน้นเชื่อมความสัมพันธ์ระดับภาครัฐและเอกชนพัฒนาไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนา (Strategic partnership for development) รัฐบาลไทยให้ความสำคัญเคนยาเป็นประตูการค้าไปยังแอฟริกาตะวันออก อาทิ อียิปต์ แทนซาเนีย และเอธิโอเปีย เป็นต้น ขณะที่สาธารณรัฐโมซัมบิกเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลอยแดง (ทับทิม) ซึ่งไทยได้มีการนำเข้า และทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ ประมง ป่าไม้ และพลังงาน ประกอบกับโมซัมบิกมีเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) มากเป็นอันดับ 2 ของแอฟริกา
สำหรับกิจกรรมที่สาธารณรัฐเคนยา ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้เข้าพบหารือกับ ดอกเตอร์คริส คริปโต ปลัดกระทรวงการค้า อุตสาหกรรมและสหกรณ์ ของสาธารณรัฐเคนยา ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันในการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วม Joint Trade and Investment Committee: JTC Thailand-Kenya เพื่อเป็นกลไกเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างกัน และจะเริ่มการประชุมครั้งแรกโดยเร็ว ในช่วงต้นปี 2560
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2560 ความสัมพันธ์ทางการทูตไทยกับเคนยา จะครบรอบ 50 ปี ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ กำหนดจัดกิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทยที่ประเทศเคนยาเพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เคนยาต้องการให้ไทยนำเข้าวัตถุดิบต่างๆ ที่เคนยามีความอุดมสมบูรณ์ อาทิ โซดาแอช อัญมณี สังกะสี เพชร ยิปซั่ม สินค้าประมง กาแฟ ชา และอะโวคาโด เป็นต้น และต้องการให้ไทยเข้าไปลงทุน เพื่อเพิ่มความสามารถในการผลิตภาคเกษตรและอุตสาหกรรม อาทิ ข้าวโพด อ้อย อาหารสัตว์ และปุ๋ย เป็นต้น เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของเคนยา ภายใต้แผน Kenya Vision 2030 ให้ก้าวขึ้นไปสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง อีกทั้งต้องการเรียนรู้ประสบการณ์ความเชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรม การท่องเที่ยว และการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค จากไทย ซึ่งไทยยินดีให้ความร่วมมือตามความต้องการ
หลังจากนั้น ได้เข้าพบหารือกับศาสตราจารย์ มิเชนี่ ทีบา ปลัดกระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และประมง ซึ่งฝ่ายไทยเจรจาผลักดันให้เคนยาพิจารณานำเข้าข้าวไทยเพิ่มขึ้น และขอสัมปทานการทำประมงชายฝังทะเลของเคนยา ซึ่งภาคเอกชนไทยจากสมาคมประมงนอกน่านน้ำมีความสนใจจะนำเข้าอาหารทะเลสดแช่เย็นแช่แข็งจากเคนยา อาทิ กุ้งล็อบสเตอร์ กั้ง ปลา และปูทะเล เป็นต้น และฝ่ายไทยได้เชิญปลัดกระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และประมง ฝ่ายเคนยา จัดคณะผู้แทนการค้ามายังประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมงาน Thailand Tractors and Agricultural Machinery Show มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ระหว่างวันที่ 4-13 ธันวาคม 2559 เนื่องจากเคนยาต้องการเครื่องจักรกลการเกษตรสูงมาก อีกทั้งคณะฯ ได้เยี่ยมชมบริษัท Rockland ผู้ผลิตและผู้ส่งออกอัญมณีรายใหญ่ของเคนยา มีเหมืองทับทิมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีการจ้างคนไทยเป็นผู้บริหารระดับสูงและช่างเทคนิค โดยเฉพาะช่างเจียระไน ทำให้สินค้ามีคุณภาพสูงและฝ่ายไทยได้เชิญบริษัทเข้าร่วมงาน Bangkok Gems and Jewelry Fair ที่จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระหว่างวันที่ 7 – 11 กันยายน 2559 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอัญมณีที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่งในเอเชีย
สำหรับกิจกรรมในการเยือนสาธารณรัฐโมซัมบิก ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ คือ
1) เพื่อเป็นประธานร่วมในการประชุม JTC ไทย-โมซัมบิก ครั้งที่ 1 ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ร่วมกับปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของโมซัมบิก ซึ่งมีโอกาสได้หารือแนวทางการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ตลอดจนความร่วมมือทางเศรษฐกิจหลายสาขาที่สองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน
2) การพบปะหารือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนสำคัญของโมซัมบิก อาทิ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติโมซัมบิก ผู้บริหารศูนย์ส่งเสริมการลงทุนและผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ในโมซัมบิกเพื่อทำความรู้จักและขยายความร่วมมือเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนของไทยในโมซัมบิก โดยเน้นการหารือประเด็นการทำธุรกรรมทางการเงินเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ในการเข้าไปลงทุนในโมซัมบิก
และ 3) การเข้าเยี่ยมคารวะนายคาร์ลูส อากูสตินโย ดู โรซารีอู นายกรัฐมนตรีของโมซัมบิก เพื่อหารือเกี่ยวกับความต้องการซื้อข้าวจากไทย 3 แสนตันและโอกาสในการขยายการลงทุนในสาขาที่ไทยมีความสนใจ โดยเฉพาะสาขาการเกษตร ประมง พลังงาน เหมืองแร่ ก่อสร้าง การท่องเที่ยว ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี เนื่องจากเป็นสาขาเศรษฐกิจที่มีความสอดคล้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลโมซัมบิกต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
ปลัดฯ ชุติมาฯ กล่าวว่า โมซัมบิกเป็นหนึ่งในประเทศที่น่าสนใจและสามารถเป็นตลาดใหม่ของไทยในทวีปแอฟริกา เนื่องจากมีความต้องการนำเข้าสินค้า อาทิ ข้าว สินค้าเกษตรแปรรูปอาหาร เครื่องสำอาง ยารักษาโรคและอาหารเสริม ปุ๋ย และเครื่องจักรกลทางการเกษตร และมีสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนที่น่าสนใจหลายประการ โดยต้องการดึงดูดการลงทุนในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ อาทิ เกษตร พลังงาน (ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานจากหญ้าเนเปีย) เหมืองแร่ (อัญมณี) ก่อสร้าง (ขนส่ง บ้านพักอาศัย) และการท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งมีนักธุรกิจและนักลงทุนจากไทยหลายรายที่สนใจเข้ามาทำธุรกิจและลงทุนในโมซัมบิก
ผลจากการเดินทางเยือนโมซัมบิกในครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์กำหนดจัดกิจกรรมต่อเนื่องจากการเยือนโดยจะจัดคณะผู้แทนการค้าภาคเอกชนเดินทางมาเข้าร่วมงานแสดงสินค้า The Maputo International Fair: FACIM 2016 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในสาธารณรัฐโมซัมบิก ระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม ถึง 4 กันยายน 2559 กิจกรรมนี้เป็นการบูรณาการร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมาบูโต เป็นกิจกรรมสำคัญในการเฉลิมฉลองการเปิดสถานทูตไทยในประเทศนี้ด้วย โดยจะเชิญภาคเอกชน 4 กลุ่มมาร่วมงาน ได้แก่ อาหาร พลังงาน สาธารณูปโภค และท่องเที่ยว
ทวีปแอฟริกา ประกอบด้วย 54 ประเทศ มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากทวีปเอเชีย มีพื้นที่รวมประมาณ 30.2 ล้านตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 6 ของพื้นที่โลก มีประชากรรวมกันมากกว่า 1,100 ล้านคน หรือร้อยละ 14.72 ของประชากรโลก อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และสินแร่มีค่าต่างๆ เช่น ถ่านหิน เพชร ทองคำ อัญมณี ประกอบกับประเทศส่วนใหญ่ในทวีปมีความมั่นคงทางการเมือง ทำให้มีนักลงทุนต่างชาติหลั่งไหลเข้าไปลงทุนจำนวนมาก ส่งผลให้เศรษฐกิจของทวีปแอฟริกาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2556 แอฟริกาเป็นทวีปที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดของโลก (ร้อยละ 5.6) ในขณะที่เศรษฐกิจโลกโดยรวมชะลอตัว ทั้งนี้ World Bank คาดการณ์ไว้ว่า GDP ของทวีปแอฟริกาในปี 2559 จะขยายตัวร้อยละ 3.3 ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์ไทย จึงต้องเร่งผลักดันการเจาะตลาดแอฟริกา ซึ่งยังมีโอกาสอีกมาก ทั้งด้านเหนือ อิยิปต์ โมรอคโก ด้านตะวันตก ไนจีเรีย กานา เบนิน โกตดิวัวร์ แคเมอรูน ด้านใต้ แอฟริกาใต้ อังโกลา บอตสวานา เป็นต้น
ข่าวเด่น