นายกรัฐมนตรี ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนแสดงความคิดเห็นเพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ให้ตรงกับความต้องการของประชาชน
วันนี้ (22 กรกฎาคม 2559) เวลา 09.00 น. ณ ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน การประชุมประจำปี 2559 ของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เรื่อง "ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) ผู้ร่วมงานประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด หัวหน้าหน่วยราชการ ผู้บริหารภาครัฐและเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเอกชน ผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 1,500 คน
ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวรายงานว่า สศช. ได้จัดการประชุมใหญ่ทางวิชาการขึ้นทุกปี เพื่อนำเสนอและรับฟังความคิดเห็น จากทุกภาคส่วนของสังคมในเรื่องที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยในปีนี้จัดขึ้นในช่วงเวลาที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 กำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2559 นี้ จึงได้ยึดกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนต่างๆของสังคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อทางคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะนำความคิดเห็นที่ได้รับไปประมูลและปรับปรุงร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) ให้ดียิ่งขึ้น
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวมอบโอวาทในตอนหนึ่ง ว่า รู้สึกยินดีเป็นเกียรติที่ได้มาเป็นประธานเปิดการประชุมประจำปี 2559 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เรื่อง “ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งจะมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคมปีนี้ โดยกำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาประเทศในระยะ 5 ปี ซึ่งจะเป็นแผนที่มีความสำคัญในการวางรากฐานการพัฒนาประเทศไปสู่สังคมที่มีความสุขอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เป็นกรอบการพัฒนาประเทศในระยะยาว รัฐบาลมีนโยบายในการสร้างความมั่นคงและเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งเร่งสร้างสังคมที่มีคุณภาพ โดยการขจัดอุปสรรคต่าง ๆ ที่มีต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ตลอดจนการวางแผนการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ในระยะยาว ครอบคลุมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การสร้างความมั่นคง มั่งคั่งทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เป็นสิ่งสำคัญที่ประเทศจะต้องมีทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาระยะยาวที่ชัดเจน โดยทุกภาคส่วนในสังคมต้องร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างต่อเนื่อง และสอดรับกับการปฏิรูปประเทศที่มุ่งสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ในอนาคต
โดยยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ (1) ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง (2) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความมั่นคงในการแข่งขัน (3) ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน (4) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันในสังคม (5) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ (6) ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ทั้งหมดนี้ ไม่เพียงแต่มุ่งผลสำเร็จของการพัฒนาเฉพาะเพียง 5 ปี ของการประกาศใช้ แต่ต้องเป็นการกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาที่มุ่งต่อยอดผลสัมฤทธิ์ของแผนที่สอดคล้องและรองรับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องกันไปตลอด 20 ปี เพื่อให้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี เกิดสัมฤทธิผลอย่างเป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ตาม การกำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศในระยะของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 นั้นเป็นเหมือนก้าวแรกในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในอนาคต เป็นการวางรากฐานการพัฒนาในด้านต่าง ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ในระยะยาวทั้ง 6 ด้านของยุทธศาสตร์ชาติข้างต้นด้วย ยุทธศาสตร์การพัฒนาทั้ง 10 ด้าน ของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 สะท้อนเป้าหมายในระยะ 20 ปีของยุทธศาสตร์ชาติอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นใน 6 ยุทธศาสตร์แรกของแผนฯ ที่ตอบสนอง 6 ยุทธศาสตร์หลักของยุทธศาสตร์ชาติโดยตรง ได้แก่ (1) การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ (2) การสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม (3) การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน (4) การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (5) การเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน และ (6) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการในภาครัฐและธรรมาภิบาล รวมถึง การกำหนด 4 ยุทธศาสตร์ที่จะสนับสนุนการพัฒนาประเทศให้ขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ (2) การพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม (3) การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ และ (4) การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา ขณะเดียวกัน ได้นำ สปช. รวม 37 วาระปฏิรูป และ สปท. มาบูรณาการไว้ในยุทธศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อช่วยให้การวางกรอบการพัฒนาในระยะต่อจากนี้ไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างเพื่อวางรากฐานให้กับประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของประเทศในระยะ 5 ปี จะยึดหลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับก่อนหน้า เพื่อให้การพัฒนาในทุกมิติมีการบูรณาการบนทางสายกลาง มีความพอประมาณ มีเหตุผล รวมถึงมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดี สอดคล้องกับภูมิสังคม การพัฒนาทุกด้าน มีดุลยภาพ ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และระบบนิเวศน์ มีความสอดรับ เกื้อกูล และพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยการพัฒนาในมิติหนึ่งต้องไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อมิติอื่นๆ รวมทั้งต้องมุ่งเน้นให้ “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” สร้างความมั่นคงของชาติ พัฒนาคนทุกวัยให้เป็น คนดี คนเก่ง มีศักยภาพ และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการเพื่อสร้างความเข้มแข็ง มีคุณธรรมจริยธรรม มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวมนำไปสู่การสร้างสังคมที่พึงปรารถนา รวมถึงมีจิตอนุรักษ์ รักษา ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้องและเหมาะสม
สำหรับ การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นหลักการสำคัญ คือ การพัฒนาต้องมีความเชื่อมโยงกันระหว่างยุทธศาสตร์ชาติ - เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ซึ่งได้มีการลงมติรับรอง “วาระการพัฒนาปี 2030 ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน” ร่วมกับประเทศสมาชิกต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วย 17 เป้าหมาย (Goals) 169 เป้าประสงค์ (Targets) และกำลังพัฒนาตัวชี้วัด (Indicators) ของแต่ละเป้าหมาย รวมประมาณ 230 ตัวชี้วัด เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) หรือ SDGS มีกำหนดเวลาดำเนินการ 15 ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 – 2030 โดยเป็นเป้าหมายระยะยาวที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่มีความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้บรรลุความสำเร็จ โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ( 5 Ps) ประกอบด้วย People : ยุติความยากจน ยุติความหิวโหย สุขภาพที่ดี การศึกษาที่มีคุณภาพ และความเสมอภาคระหว่างเพศ Planet : การจัดการน้ำและสุขาภิบาล การผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน การต่อสู้ปัญหาเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน Prosperity : พลังงานสมัยใหม่ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม และการมีงานที่มีคุณค่า โครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคง ลดความไม่เสมอภาค Peace : สังคมที่สงบสุขและความยุติธรรม Partnership : หุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลก ทั้งหมดนี้ เป็นการกำหนดเป้าหมาย เป้าประสงค์ และตัวชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้อย่างชัดเจน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการกำหนดเส้นทางการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย “การพัฒนาที่ยั่งยืน”
ทั้งนี้ การดำเนินการตาม 17 เป้าหมาย 169 เป้าประสงค์ที่ตั้งไว้นั้น จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นได้ว่า ประเทศไทยจะพัฒนาอยู่บนเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืน แม้สถานการณ์แวดล้อมจะเปลี่ยนแปลง ก็ยังเป็นเป้าหมายและเป้าประสงค์ที่จำเป็นต้องฝ่าฟันทำให้สำเร็จ ส่วนปัญหาในเรื่องการขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ การศึกษาที่มีคุณภาพ การต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป้าหมายและเป้าประสงค์เหล่านี้ เป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยที่ต้องเร่งแก้ไข และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อการกำหนดกรอบเป้าหมายหลักของการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เพราะมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ การพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นสิ่งที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกให้การยอมรับว่า ถ้าจะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดผลสัมฤทธิ์
นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมต่อไปอีกว่า การกำหนดเป้าประสงค์ (Targets) ที่เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพปัญหารวมทั้งความต้องของประเทศ จะต้องกำหนดให้ได้ว่าภายใน 15 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเดินหน้าอย่างไรให้ยั่งยืน ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมกันคิด เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และให้สามารถนำเป้าหมาย เป้าประสงค์ของ SDGs มาบูรณาการกับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนงานของกระทรวงต่าง ๆ รวมทั้งองค์กรธุรกิจ ซึ่งจะทำให้สามารถมองเห็นภาพอนาคตร่วมกัน และดำเนินการตาม Roadmap ของประเทศร่วมกัน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากพรรคการเมืองใดก็จะสามารถขับเคลื่อนและเดินหน้าการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างต่อเนื่อง
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง เป้าหมายระยะยาวว่า มีการดำเนินงานที่ต่อเนื่อง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็จะเป็นแผนที่เชื่อมโยง ถ่ายโยงจากยุทธศาสตร์และเป้าหมายระยะยาว มาสู่แผนดำเนินงานที่ชัดเจนเป็นช่วงเวลา ในทุกระยะ 5 ปี ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ชาติต้องเกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในชาติ ร่วมกันคิด ร่วมกันจัดทำ ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่เขียนไว้ชัดเจนในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ อยู่ในมาตราที่ 65 วรรคสอง เป็นวิธีที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ไปสู่การปฏิบัติได้ดีกว่ากัน มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลดีกว่ากัน ยุทธศาสตร์ชาติอาจมีการปรับเปลี่ยนได้ หากมีความจำเป็น ในทุกระยะ 5 ปี หรือให้ทบทวนเมื่อมีสถานการณ์แวดล้อมภายในประเทศ สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงที่กระทบต่อยุทธศาสตร์ชาติ แต่ต้องมีกติกาชัดเจน สิ่งเหล่านี้อยู่ในแผนงาน อยู่ใน Road Map ของรัฐบาลที่จะเร่งรัดให้เกิดผลได้จริงก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2560
พร้อมกล่าวว่า การกำหนดกรอบการพัฒนาประเทศไม่ว่าจะเป็นในระยะสั้น ระยะปานกลาง ระยะยาว รวมถึงการทำงานของรัฐบาล ให้ความสำคัญกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมายควบคู่ไปด้วย อาทิ การยุติความยากจนทุกรูปแบบ การสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม การสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน การส่งเสริมนวัตกรรม การลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ การปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะเชื่อมโยง สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สิ่งสำคัญ จะต้องมุ่งเน้น การพัฒนาบนพื้นฐานของ “ปัญญาหรือองค์ความรู้” โดยใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมถึงความคิดสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาในทุกมิติ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ซึ่งจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาของประเทศ พัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถมารองรับ พร้อมกับใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและพัฒนาให้เกิดคุณค่าและมูลค่าและมีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพที่ทำให้เกิดกระบวนสร้างสรรค์และกระจายความรู้อันจะนำไปสู่ความเข้มแข็งของภาคสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การดำเนินงานทั้งหมดนี้ เป็นเครื่องยืนยันว่า รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้กับประชาชนอย่างเต็มที่ และรัฐบาลพร้อมร่วมมือกับทุกฝ่ายในการสร้างความมั่นคงให้กับประชาชน เพื่อพัฒนาความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศในระยะยาว ทั้งนี้ ความสำเร็จของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะเกิดขึ้นได้นั้น จะต้องเกิดจากการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายที่เข้ามาร่วมกันรับผิดชอบ และลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังในการขับเคลื่อนแผนฯ ให้ประสบผลเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างเป็นพันธมิตร ตามแนวทางประชารัฐ โดยภาครัฐจุดมุ่งหมายและแนวทางการพัฒนาในแผนฯ ภาครัฐจะนำไปใช้เป็นกรอบพิจารณาการจัดทำยุทธศาสตร์ การจัดสรรงบประมาณประจำปี การจัดทำแผนยุทธศาสตร์กระทรวง ไปสู่การจัดทำแผนปฏิบัติของหน่วยงานระดับกรม และหน่วยงานของกระทรวงในภูมิภาค ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้ ขณะที่ภาคเอกชนมีการประสานเชื่อมโยงธุรกิจกับการพัฒนาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ควบคู่กับการทำงานร่วมกันกับภาคีต่าง ๆ โดยอยู่ภายใต้หลักความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงภาควิชาการก็จะต้องร่วมมือนำองค์ความรู้จากการศึกษาวิจัยมาประยุกต์ใช้หรือต่อยอดเป็นศูนย์การเรียนรู้และแหล่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาท้องถิ่นชุมชนได้อย่างมั่นคง
สำหรับสื่อมวลชน นายกรัฐมนตรี ได้ขอความร่วมมือให้เห็นถึงประโยชน์ของส่วนรวม มีความความเป็นกลาง นำเสนอข้อมูลที่เป็นจริง สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ที่สำคัญประชาชนทุกคนจะต้องมีคุณธรรมและจริยธรรม มีความตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ เคารพกฎหมายสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น รวมทั้งมีจิตสาธารณะ มีความรับผิดชอบต่อสังคม ถ้าทุกภาคส่วนร่วมมือประสานงานกันอย่างมุ่งมั่น เชื่อว่าแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 จะเป็นแผนการพัฒนาที่สำคัญและสะท้อนความต้องการของคนในประเทศที่จะทำไปสู่การปฏิรูป และการพัฒนาประเทศไทยให้มีความยั่งยืนต่อไป
ตอนท้าย นายกรัฐมนตรี ได้ขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันแสดงความคิดเห็น ระดมสมองกันอย่างเต็มที่ รวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้นำผลไปประมวล และจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่ครอบคลุมถึงความต้องการของประชาชนและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
ข่าวเด่น