วันนี้ (26 กรกฎาคม 2559) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ฯ กรุงเทพฯ นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดการประชุม “ปรึกษาหารือผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศในการร่าง พ.ร.บ.โรคไม่ติดต่อ พ.ศ. ....” โดยมี Dr.Renu Garg ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และ Dr.John McArthur ผู้แทนศูนย์ความร่วมมือไทยสหรัฐด้านสาธารณสุข และผู้เชี่ยวชาญจากประเทศออสเตรเลีย สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และสวิสเซอร์แลนด์รวมถึงผู้เชี่ยวชาญ และเครือข่ายโรคไม่ติดต่อทั้งในและต่างประเทศ ร่วมประชุมปรึกษาหารือในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการรับฟังการพัฒนาและการใช้มาตรการทางกฎหมายด้านโรคไม่ติดต่อที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ เพื่อนำข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ มาเป็นแนวทางในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.โรคไม่ติดต่อ ฉบับนี้
นายแพทย์อำนวย กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มโรคไม่ติดต่อเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของโลกและอันดับหนึ่งในประเทศไทย ทั้งในมิติของจำนวนการเสียชีวิตและภาระโรคโดยรวม ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวทั่วโลกประมาณ 38 ล้านคน โดยสามในสี่หรือประมาณ 28 ล้านคน อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง ในประเทศไทยภาระโรคเกิดจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อหลักสำคัญ ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากการเฝ้าระวังโรคไม่ติดต่อเรื้อรังด้วยการสำรวจสุขภาพประชาชน โดยการตรวจร่างการครั้งที่ 5 ในปี 2557 พบการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้นหนึ่งในสามของประชาชนไทยที่มีอายุ 15 ปี ขึ้นไป ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สำคัญ คือ เบาหวานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.9 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 8.9 เช่นเดียวกับความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 21.4 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 24.7 รวมถึงภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนมีความชุกสูง คือร้อยละ 30.5 และ 7.5 ตามลำดับ
ทั้งนี้ มาตรฐาน หลักเกณฑ์ และรูปแบบการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคไม่ติดต่อที่ดำเนินงานอยู่ยังไม่เพียงพอต่อการจัดการปัญหาและลดผลกระทบที่เกิดจากโรคไม่ติดต่อได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการทางกฎหมายมาเป็นเครื่องมือเสริมความเข้มแข็งในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้จัดทำร่าง พ.ร.บ.โรคไม่ติดต่อ เพื่อเป็นกลไกการดำเนินงานเฝ้าระวัง การป้องกันและควบคุมโรคที่ทันต่อเหตุการณ์ และมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นประโยชน์แก่การพัฒนาการคุ้มครองสุขภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น โดยในเบื้องต้นได้มีกระบวนการปรึกษาหารือผู้ที่เกี่ยวข้องภายในประเทศ มีแนวคิดและความเห็นประเด็นหลักที่ควรมีมาตรการทางกฎหมายช่วยขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อ ทั้งการเฝ้าระวังสอบสวน การลดการแพร่ระบาดและการลดพฤติกรรมเสี่ยงและปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อ เช่น การบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย กลไกทางการตลาด เป็นต้น ส่วนการประชุมในครั้งนี้ เป็นการประชุมผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ เพื่อรับฟังการพัฒนากฎหมายและการใช้มาตรการด้านโรคไม่ติดต่อจากต่างประเทศ หลังจากนั้น จะดำเนินการยกร่างเพื่อจัดทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ และปรับปรุงร่างให้ครอบคลุมก่อนที่จะนำเสนอผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และนำเสนอต่อรัฐสภา/สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีพิจารณา ต่อไป
ที่สำคัญ พ.ร.บ.โรคไม่ติดต่อ ฉบับนี้ ถือเป็น พ.ร.บ. ฉบับแรกที่เกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อโดยตรง ซึ่งสาเหตุของการจัดทำ พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีดังนี้ 1.ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายเฉพาะที่จะควบคุมปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อ 2.สังคมการอยู่อาศัยสมัยนี้เปลี่ยนไปจากเดิม เป็นการอยู่ในรูปแบบคอนโดมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีสถานบริการที่ดูแลประชาชนในกลุ่มนี้ด้วย 3.สถานบริการเอกชนหรือตามมหาวิทยาลัยต่างๆ จะได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและดำเนินการอย่างเป็นระบบ เพื่อให้งานด้านการป้องกันโรคไม่ติดต่อมีประสิทธิภาพ ต่อไป หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
ข่าวเด่น