รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) มีกำหนดพบกันระหว่างวันที่ 2-6 สิงหาคม 2559 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว โดยจะหารือเพื่อร่วมกันผลักดันแผนงานของอาเซียนและ การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ RCEP ให้มีความคืบหน้าและสรุปผลได้ในปีนี้
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การพบกันครั้งนี้จะเป็นการ ประชุมอย่างเป็นทางการร่วมกันครั้งแรก หลังจากที่เป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดย AEM จะร่วมกันกำหนดแผนงานใน 10 ปีข้างหน้า และจะรับรองเอกสารสำคัญ 21 ฉบับ เช่น การรับรองแผนปฏิบัติการด้านเศรษฐกิจในช่วง 10 ปี การรับรองกรอบการตรวจสอบและประเมินผลสำหรับ AEC Blueprint 2025 ที่จะใช้ติดตามผลความสำเร็จของการทำงาน การรับรองเรื่องที่ลาวซึ่งเป็นประธานอาเซียนปีนี้ให้ความสำคัญอันดับต้น ประกอบด้วย แนวทางความร่วมมือด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า การควบคุมดูแลความปลอดภัยของอาหาร การขยายโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรายย่อย (MSMEs) การเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการจัดตั้งธุรกิจ และการพัฒนาและความร่วมมือในเขตเศรษฐกิจพิเศษ นอกจากนี้ AEM จะรับรองเอกสารร่วมกับประเทศนอกอาเซียนด้วย ได้แก่ แถลงการณ์ร่วมระหว่างอาเซียน – จีน ว่าด้วยความร่วมมือในการเสริมสร้างศักยภาพการผลิต แผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ระยะ 10 ปี ขอบเขตการทบทวนความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และความร่วมมือ ด้านการส่งเสริมแนวปฏิบัติที่ดีด้านความโปร่งใสและข้อพึงปฏิบัติที่ดีในการออกกฎระเบียบระหว่าง อาเซียน-สหรัฐอเมริกา
นอกเหนือจากการรับรองเอกสารต่างๆ ในการพบกันครั้งนี้ จะมีการเปิดตัวระบบ Tariff Finder ซึ่งเป็นระบบค้นหาข้อมูลภาษีของประเทศในอาเซียนและประเทศคู่เจรจา รวมทั้งการเปิดตัวระบบ ASEAN Solutions and Settlements for Investments, Services and Trade (ASSIST) ซึ่งเป็นระบบที่เปิดให้ธุรกิจที่ตั้งอยู่ในอาเซียนสามารถสอบถามปัญหาเกี่ยวกับการค้าสินค้า บริการ และการลงทุนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม AEM ยังจะได้หารือร่วมกันว่าจะผลักดันให้การเจรจา RCEP สรุปผลได้ในปีนี้ตามที่ผู้นำได้ประกาศไว้ได้อย่างไร ซึ่งในครั้งนี้ AEM จะพบกับรัฐมนตรีของประเทศ +6 (ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย) ด้วย
ทั้งนี้ ในช่วงการประชุม AEM จะได้ร่วมหารือกับภาคเอกชนของอาเซียน รวมทั้งภาคเอกชนของญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐฯ แคนาดา เป็นต้น เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นด้านการค้าและการลงทุน และนำไปปรับปรุงระบบต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกการค้าการลงทุนต่อไป
ปัจจุบัน อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย โดยการค้าของไทยกับอาเซียนในปี 2558 มีมูลค่าประมาณ 9.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 22 ของการค้าไทยกับทั่วโลก ทั้งนี้ ตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์
ข่าวเด่น