นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมความร่วมมือด้านรถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 12 ว่า ที่ประชุมมีการพิจารณามูลค่าโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.5 กิโลเมตร (กม.) เบื้องต้นได้ประมาณการตัวเลขโครงการทั้งหมดไว้ที่ไม่เกิน 1.79 แสนล้านบาท แต่ยังไม่ได้ข้อยุติปัญหา 2 เรื่อง คือตัวเลขค่าใช้จ่ายในการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ซึ่งฝ่ายไทยได้ขอให้จีนรับผิดชอบในส่วนนี้ และค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม ฝ่ายไทยให้จีนกลับไปแยกรายละเอียดแต่ละรายการให้ชัดว่า รายการใดที่จะอบรมให้ฟรีและรายการใดจะมีค่าใช้จ่าย
การก่อสร้างโครงการรถไฟไทยจีน แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 4 ตอน 1 จากกลางดง-ปางอโศก รวม 3.5 กิโลเมตร( ก.ม.) ยังคงกำหนดการก่อสร้างไว้ในระหว่างเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ตามเดิม คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติได้ในเดือน ส.ค. จากนั้นก็จะประกวดราคาเพื่อหาผู้รับเหมาได้ภายในเดือน ก.ย. ล่าสุดฝ่ายจีนได้นำส่งแบบก่อสร้างตอนที่ 1 บริเวณ กม.150+500 ถึง กม.154+000 ระหว่างสถานีกลางดง-สถานีปางอโศก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา แล้ว
ตอน 2 จากปากช่อง-คลองขนานจิตร์ 11 ก.ม. หลังจากที่เจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคของจีนได้ลงพื้นที่สำรวจพบว่ามีปัญหาทางด้านกายภาพ 2 จุดบริเวณ อ.กลางดง เนื่องจากพื้นดินอ่อนและมีปัญหาดินสไลด์ระยะทางประมาณ 10 ก.ม. ซึ่งจีนเสนอว่าอาจจะต้องมีการแก้ไขแนวเส้นทางเล็กน้อย และขอขยับเวลาการส่งแบบก่อสร้างตอนที่ 2 จากเดือนต.ค. เป็นเดือนพ.ย. ตอน 3 จากแก่งคอยนครราชสีมา 119 ก.ม. และ ตอน 4 จากกรุงเทพฯ-แก่งคอย 119 ก.ม.
ส่วนการกู้เงินจากจีนซึ่งคาดว่าจะนำมาใช้ในการซื้อขบวนรถและจัดจ้างงานระบบนั้น ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีนหรือ Exim Bank ยื่นแผนและเงื่อนไขในการกู้เงินให้ฝ่ายไทยพิจารณากู้เป็นเงินสกุลหยวน อัตราดอกเบี้ย 3.2% แทนกู้สกุลดอลลาร์สหรัฐอัตราดอกเบี้ยที่ 2% จะต้องมีการหารือกันเพื่อเปรียบเทียบ อัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงิน ซึ่งกระทรวงการคลังจะรับหน้าที่ให้การเจรจากับ Exim Bank ต่อไป โดยไทยต้องการดอกเบี้ยที่ถูกที่สุดจึงยังไม่ได้สรุปเรื่องเงินกู้
ข่าวเด่น