ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กรมควบคุมโรคเตือนเล่นน้ำทะเลระวัง!'แมงกะพรุนกล่อง'มีพิษ


 


นายแพทย์อำนวย  กาจีนะ  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีแจ้งพบแมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส (Portuguese man-of-war) ที่บริเวณหาดใน จ.ภูเก็ต นั้น เนื่องจากช่วงนี้เป็นฤดูมรสุมและมักจะพบแมงกะพรุนถูกคลื่นซัดเข้ามาชายหาดจำนวนมากทั้งมีพิษและไม่มีพิษ อย่างไรก็ตามต้องระมัดระวังชนิดมีพิษ โดยเฉพาะแมงกะพรุนกล่อง ซึ่งในประเทศไทยเคยพบผู้เสียชีวิตจากแมงกะพรุนกล่องแล้ว ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2542 - 2558 มีรายงานผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเนื่องจากแมงกะพรุนพิษมากกว่า 900 ราย พบอาการหนักจนถึงหมดสติ 18 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 8 ราย 
         
 
สำหรับพิษของแมงกะพรุน จะอยู่ที่หนวด ซึ่งมีเข็มพิษอยู่จำนวนมาก ดังนั้นบางครั้งอาจจะไม่เห็นตัว แต่โดนแค่หนวดซึ่งหลุดออกมาก็สามารถถูกพิษได้ ซึ่งพิษของแมงกะพรุนแต่ละชนิดจะไม่เหมือนกัน บางชนิดมีความรุนแรงมากทำให้เสียชีวิตได้ในเวลาอันสั้น โดยเฉพาะแมงกะพรุนกล่อง แต่แมงกะพรุนส่วนใหญ่จะทำให้เกิดปัญหาที่ผิวหนัง ทำให้เกิดการปวดแสบปวดร้อน และผิวหนังอักเสบตามมา ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการโดนแมงกะพรุน ประชาชนจึงควรมีความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลผู้สัมผัสแมงกะพรุนพิษที่ถูกต้อง ซึ่งการช่วยเหลือที่ถูกวิธีจะช่วยลดความรุนแรงของการได้รับพิษ 
         
นายแพทย์อำนวย  กล่าวต่อไปว่า แมงกะพรุนกล่องจะมีลักษณะโปร่งใส โดยเฉพาะบริเวณสายหนวด รูปร่างเป็นทรงสี่เหลี่ยม มีหนวดบางๆ 12-15 เส้นในแต่ละมุม มีทั้งหมด 4 มุม หนวดอาจยาวถึง 3 เมตร ซึ่งถุงพิษจะอยู่ที่สายหนวด หนึ่งตัวอาจมีถุงพิษถึงล้านถุง ทำให้แมงกะพรุนกล่องจัดเป็นสัตว์ทะเลที่มีพิษร้ายแรงที่สุด ซึ่งพิษของแมงกะพรุนกล่องมีฤทธิ์ 3 ด้าน คือ 1.ทำให้เซลล์ผิวหนังตาย 2.มีอาการปวดรุนแรง และ 3.หากได้รับพิษในปริมาณมาก และพิษเข้าสู่กระแสเลือดจะแล่นเข้าสู่หัวใจทำให้หัวใจหยุดเต้นและระบบหายใจล้มเหลว เสียชีวิตได้ใน 2-10 นาที ส่วนการช่วยเหลือเบื้องต้นที่ถูกวิธีคือ ราดด้วยน้ำส้มสายชูจะระงับการยิงพิษจากถุงพิษที่ยังไม่ได้ยิงในระยะแรก จะลดความรุนแรงของการได้รับพิษ โดยราดด้วยน้ำส้มสายชูอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 30 วินาที ก็จะสามารถนำสายหนวดออกจากร่างกายได้โดยปลอดภัย แต่น้ำส้มสายชูไม่ได้ช่วยลดความปวด จึงต้องให้ยาลดปวดคู่กับการให้น้ำส้มสายชู 
         
 
ในการป้องกันแมงกะพรุนพิษ ขอให้ประชาชนสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด เช่น แขนยาว ขายาวแนบตัว ขณะลงเล่นน้ำทะเล ไม่ควรเล่นน้ำนอกตาข่ายในทะเล หากพบผู้สัมผัสแมงกะพรุนพิษ ให้รีบนำขึ้นจากน้ำ และทำการช่วยเหลือโดยทันที หรือโทรศัพท์สายด่วน 1669 เพื่อส่งหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุดเข้ามาช่วยเหลือ หากยังไม่ได้ราดน้ำส้มสายชูห้ามราดด้วยน้ำจืด  ห้ามใช้มือถูบริเวณที่ถูกต่อยสัมผัสแมงกะพรุน และห้ามประคบด้วยความร้อนหรือน้ำแข็ง เพราะจะกระตุ้นให้เกิดการยิงพิษเพิ่มขึ้น และไม่ควรให้ผู้ป่วยขยับตัว เพื่อป้องกันการกระทบแผล ที่สำคัญ หากสัมผัสแมงกะพรุนแล้วมีอาการ หายใจลำบาก กลืนลำบาก เจ็บหน้าอก ปวดบริเวณที่ถูกสัมผัสแมงกะพรุนต่อยมาก มีอาการ คัน บวมแดง ปวดผิวหนังอยู่ตลอดเวลา ต้องรีบไปพบแพทย์ ในกรณีที่หมดสติ ตัวเขียว ให้เจ้าหน้าที่การแพทย์ฉุกเฉินเข้าช่วยเหลือและนำผู้ป่วยส่งสถานพยาบาลทันที
          
ทั้งนี้ แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส ที่พบบริเวณจ.ภูเก็ต นั้น มีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการได้หลายชื่อ เช่น แมงกะพรุนหัวขวด หรือ แมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส เนื่องจากรูปร่างคล้ายหมวกของทหารเรือชาวโปรตุเกสในยุคกลาง หรือเรือรบของโปรตุเกสในยุคล่าอาณานิคมที่เรียกว่า "Man-of-war" แมงกะพรุนนี้จะมีรูปร่างสีฟ้าหรือสีม่วง มีหนวดยาว ปกติจะพบในน่านน้ำไทยอยู่แล้วแต่พบได้ไม่บ่อย ซึ่งอาจเกิดจากการถูกกระแสน้ำพัดมาเกยตื้นเข้าสู่น่านน้ำไทยได้ในบางฤดูกาล และจากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพบว่า แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกสที่พบในประเทศไทยเป็นชนิดที่มีขนาดเล็ก ความยาวลำตัวประมาณ 2-5 เซนติเมตร ซึ่งเป็นชนิดที่พบทั่วไปในมหาสมุทรแปซิฟิค เช่น เอเชีย ออสเตรเลีย เป็นต้น มักไม่ก่อให้เกิดอาการรุนแรง ซึ่งเป็นคนละสายพันธุ์กับแมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกสที่มักพบในประเทศแถบมหาสมุทรแอตแลนติคและเคยมีรายงานว่าทำให้เสียชีวิตในประเทศอเมริกา ซึ่งชนิดนั้นจะมีความยาวลำตัวประมาณ 25-30 เซนติเมตร และจัดเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่มีพิษร้ายแรงมาก โดยพิษสามารถทำลายระบบประสาท ผิวหนัง หัวใจ  หากไปสัมผัส ผู้ที่สัมผัสแมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกสจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนอย่างมาก ใจเต้นแรง แน่นหน้าอก และถ้าได้รับพิษในปริมาณสูงร่างกายจะช็อคหรือหัวใจล้มเหลวถึงแก่ชีวิตได้  อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีรายงานจากประเทศอื่นๆว่าแมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกสอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงจนเสียชีวิตได้  แต่ก็พบได้น้อยมาก
          
ด้านการปฐมพยาบาลเบื้องต้นในผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากแมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส อาจมีอาการแย่ลงหากได้รับน้ำส้มสายชู ดังนั้นในกรณีที่ทราบชัดเจนว่าสัมผัสแมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส เช่น เห็นตัวแมงกะพรุนชนิดนี้ในที่เกิดเหตุ ไม่ควรใช้น้ำส้มสายชู และห้ามใช้น้ำจืดเด็ดขาดเพราะทำให้เกิดการยิงพิษอย่างเต็มที่ แต่ให้ใช้น้ำทะเลมาราดบริเวณที่สัมผัสหนวดแมงกะพรุน เพื่อล้างเศษหนวดและเข็มพิษ จากนั้นให้เฝ้าสังเกตอาการผู้ได้รับพิษอย่างใกล้ชิด หากพบว่าอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการมากให้นำส่งโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียง ทั้งนี้ ในกรณีที่ไม่แน่ใจว่าโดนแมงกะพรุนชนิดใด ให้ราดน้ำส้มสายชูไว้ก่อน เนื่องจากโดยทั่วไปแมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกสมีพิษน้อยกว่าแมงกะพรุนกล่อง รวมถึงประเทศไทยยังสุ่มไม่พบแมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกสชนิดที่มีพิษร้ายแรง หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422  
  





 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 ก.ค. 2559 เวลา : 11:19:39

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:25 am