ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กรมสบส.เตรียมเปิดไลน์ กระซิบสุขภาพ ยุค4.0 สร้าง 'เอชคิว' คนไทยป้องภัยสุขภาพตัวเองเป็น



อธิบดีกรมสนับสนุบริการสุขภาพ  เร่งจูนความคิดประชาชน ไม่ฝากสุขภาพตัวเองให้คนอื่นดูแล  เตรียมเปิดไลน์กระซิบสุขภาพยุค 4.0 เพื่อสร้าง “เอชคิว” หรือความฉลาดทางสุขภาพคนไทยให้มีความรู้ และลงมือปฏิบัติเพื่อเป็นผู้คุ้มครองสุขภาพตนเอง ป้องกันป่วย โดยจะระดมทีมงานสุขภาพมืออาชีพ กลั่นกรองและพัฒนาข้อมูลข่าวสาร ให้ถูกต้อง กระชับ เข้าใจง่าย ส่งถึงตัวประชาชนแทนการเคาะประตูบ้านบอก ชี้ขณะนี้คนไทยเข้าใจผิดคิดว่าการคุ้มครองสุขภาพของตนยังเป็นหน้าที่ของคนอื่น

วันนี้ (29 กรกฎาคม 2559)  ที่โรงแรมเซนทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซนเตอร์  กทม. นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ  (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข  เป็นประธานในพิธีปิดการประชุมวิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านระบบบริการสุขภาพและระบบสุขภาพภาคประชาชน  แห่งชาติ ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 27-29 กรกฎาคม 2559  ซึ่งมีบุคลากรสาธารณสุขเข้าร่วมประชุม 2,103  คน 


นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง กล่าวว่า  ในการประชุมวิชาการฯ รอบ 2 วันที่ผ่านมา กรม สบส. ได้รับฟังข้อมูลจากนักวิชาการที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข ในการพัฒนางานคุ้มครองผู้บริโภคด้านระบบบริการสุขภาพและระบบสุขภาพภาคประชาชน ให้เป็นไปตามสิทธิของประชาชนที่จะต้องได้รับการคุ้มครองที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ไม่มีความเหลื่อมล้ำ สมประโยชน์และสมคุณค่าในการดำเนินงานคุ้มครองประชาชนผู้บริโภคทางด้านระบบบบริการสุขภาพ ยุค 4.0  ซึ่งเทคโนโลยีมีความก้าวหน้า ข้อมูลข่าวสารเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว มีทั้งถูกและผิด กรม สบส.ได้ให้ความสำคัญในการดูแลมาตรฐานของระบบบริการสุขภาพทุกด้าน ตั้งแต่มาตรฐานอาคารสถานที่ของสถานพยบาบาลทั่วประเทศให้มีความปลอดภัย มีระบบการตรวจสอบคุณภาพอย่างต่อเนื่อง  เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคและมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการ มีการบังคับใช้กฎหมายแก่ผู้กระทำผิด  ดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลข้างเคียงอย่างทันท่วงที  รวดเร็ว ไม่ปล่อยให้เผชิญชะตากรรม มีการดูแลตรวจสอบมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในการให้บริการผู้ป่วย กว่า 200,000 ชิ้นต่อปี  และถ่ายทอดความรู้สุขศึกษาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเองเป็น

 ทั้งนี้ความรู้สุขภาพนั้น    ถือเป็นความฉลาดที่มีความจำเป็นในตัวบุคคล เรียกว่า เอชคิว (Health Quotient, HQ) เป็นตัวบ่งบอกศักยภาพการมีสุขภาพดีของประชาชน   ที่ผ่านมาเราจะรู้จักแต่ ไอคิว (IQ) ความฉลาดทางสติปัญญา, อีคิว (EQ) ความฉลาดทางอารมณ์ แต่เอชคิวยังรู้จักกันน้อย และเป็นตัวที่สร้างความเหลื่อมล้ำสุขภาพมากที่สุด  เพราะเพียงแค่รู้แต่ไม่ปฏิบัติ  ทั้งที่ใช้การลงทุนต่ำที่สุด และที่สำคัญขณะนี้คนไทยเข้าใจผิดอยู่มากว่า การดูแลสุขภาพไม่ใช่หน้าที่ของตัวเอง ยังคิดว่าเป็นหน้าที่ของบุคคลอื่น  เช่น หมอ พยาบาล และอสม. จึงไม่ได้ทำหน้าที่คุ้มครองสุขภาพตัวเอง 

อธิบดีกรม สบส.กล่าวต่ออีกว่า  ในการสร้างเอชคิว กรม สบส.จะเน้นหนักใน 4 เรื่อง คือ การจัดทำระบบโซเชียลเฮลท์มีเดีย (Social Health Media) คือ ไลน์กระซิบสุขภาพยุค 4.0 โดยจะตั้งทีมมืออาชีพด้านสุขภาพร่วมกันกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารที่มาจากสื่อโซเชียลมีเดียทุกแขนง โดยเฉพาะไลน์ ซึ่งมีการใช้และแชร์ข้อมูลกันมากที่สุดในขณะนี้ โดยข้อมูลที่ผ่านมาทางไลน์ทุกเรื่องจะต้องมีการสอบเทียบความถูกต้องจากผู้ประกอบวิชาชีพ และทำให้ข้อมูลมีความแม่นยำ น่าเชื่อถือก่อนจะส่งกลับไปถึงประชาชนตามช่องทาง โดยเฉพาะการผ่าน อสม.ที่ดูแลประชาชน 10-15 หลังคาเรือนต่อคนแทนการเคาะประตูบ้าน  โดยจะทำให้เร็วที่สุด การให้ความรู้ในโรงเรียนเน้นความรู้สุขบัญญัติ 10 ประการ,  ในชุมชนจะดำเนินการตำบลจัดการสุขภาพเพื่อให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม ลดเสี่ยง ลดโรค

ประการสุดท้าย คือ การพัฒนาระบบเทเลเมดิซิน (Tele medicine) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารทางไกลผ่านดาวเทียมหรือระบบอินเทอร์เน็ต เชื่อมต่อระหว่างแพทย์ กับสถานบริการ เช่น สุขศาลาพระราชาทาน ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ทำให้ประชาชนทุกหัวระแหงสามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ ข้อมูลสุขภาพที่แปลงผ่านเป็นภาษาถิ่นเข้าใจง่าย  ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้จะตอบโจทย์การคุ้มครองผู้บริโภคในยุค 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม สามารถจับต้องได้

 

บันทึกโดย : วันที่ : 29 ก.ค. 2559 เวลา : 13:18:18

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:51 am