กฎหมายสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 กันยายน 2559ได้รับการขานรับจากผู้ประกอบการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ เชื่อมั่นจะทำให้ธุรกิจสปา นวดไทย ได้รับความเชื่อมั่น ขยับความนิยมขึ้นจากอันดับ 13 เป็นเบอร์ 1 ของโลก และเตรียมผลักดันให้เป็นวิชาชีพแขนงหนึ่ง มีสภาวิชาชีพควบคุมกำกับ ยกมาตรฐานผู้ประกอบอาชีพนวดว่าเป็นผู้ให้บริการนวด ไม่ใช่หมอนวด
ในงานจัดประชุมวิชาการคุ้มครองผู้บริโภคระบบบริการสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 จัดโดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ที่โรงแรมเซนทราศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กทม. ระหว่างวันที่ 27-29 กรกฎาคม 2559 ได้จัดเวทีบรรยายวิชาการ นับถอยหลังการบังคับใช้พระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 ซึ่งจะมีผลในวันที่ 27 กันยายน 2559
โดยนายแพทย์ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ผู้ช่วยอธิบดีกรมสบส.และผู้อำนวยการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า ขณะนี้กรมสบส.ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายเต็ม 100 เปอร์เซนต์ โดยสถานประกอบการประเภท สปา ที่ได้รับใบรับรองจากกรมสบส.อยู่เดิมก่อนแล้ว ประมาณ 500 กว่าแห่ง กรม สบส.เตรียมเสนอคณะกรรมการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ให้ผ่อนผันให้ผู้ดำเนินการสถานประกอบการดังกล่าว สามารถยื่นขออนุญาตได้เลยโดยไม่ต้องสอบใหม่ แต่ต้องยื่นภายในเวลา 180 วันเท่านั้น ส่วนผู้ให้บริการที่จบจากหลักสูตรที่กรมสบส.กำหนดประมาร 600 กว่าหลักสูตร สามารถยื่นที่สถานประกอบการได้เลย ส่วนสถานประกอบการที่ยังไม่เคยได้รับใบรับรอง จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนคือยื่นขออนุญาตทางอิเล็คทรอนิกส์หรือที่กรมสบส. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และจะจัดสอบความรู้แก่ผู้ดำเนินการเฉพาะสปาเพื่อสุขภาพ ในเดือนพฤศจิกายน 2559 ส่วนกิจการนวดไม่ต้องสอบ
ขณะนี้ กองฯได้จัดทำเฟซบุ้คสถานประกอบการเพื่อสุขภาพเพื่อสื่อสารแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง และผู้สนใจประกอบธุรกิจประเภทสปา นวดเพื่อสุขภาพ และนวดเพื่อเสริมความงาม ได้ติดตามข้อมูลความคืบหน้า ยอด 3 เดือน มีผู้เข้าชมกว่า 37,000 คน มีทั้งชาวไทยและต่างประเทศเช่น เกาหลี สิงคโปร์ และจากยุโรป โดยหลังกฎหมายบังคับใช้ สิ่งที่จะเร่งดำเนินการให้หมดไปคือการกวาดล้างสถานบริการสีเทาได้แก่ สถานประกอบการที่บริการเพศแอบแฝง ส่วนผู้ประกอบการรายย่อยเช่นร้านนวดโดยผู้สายตาพิการ ไม่ต้องกังวลแต่อย่างใด เพราะเป็นการประกอบอาชีพสุจริตใช้ภูมิปัญญาสร้างอาชีพ รายได้ กรมสบส.จะให้ความรู้ ส่งเสริมพัฒนาให้ได้มาตรฐาน และได้รับใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย
ทางด้านนายกรด โรจนเสถียร นายกสมาคมสปาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ข้อมูลระดับโลก ในปี 2556 ธุรกิจสปาสร้างรายได้มากถึง 305,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนน้ำพุร้อน มีรายได้ 162,000 ล้านกว่าบาท ส่วนประเทศไทยมีรายได้จากสปา 28,500 ล้านบาท อยูในอันดับ13 ของโลก จึงเชื่อมั่นว่าภายหลังไทยมีกฎหมายควบคุมกิจการนี้เป็นการเฉพาะ จะทำให้ความนิยมสปาไทยขยับขึ้นสู่อันดับ1 ของโลก โดยสมาคมที่มีสมาชิกกว่า 50 แห่ง พร้อมปฏิบัติตามและร่วมมือกรมสบส.อย่างเต็มที่
นายชาญพจน์ โคคาลัย ผู้ประกอบการเชตุพน กทม. กล่าวว่า การนวดเป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง และเป็นเรื่องที่โฆษณาสรรพคุณไม่ได้ ต้องได้สัมผัสจริง กฎหมายฉบับนี้จะเป็นตัวกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการ และมั่นใจว่าสามารถจัดการแก้ไขภาพลักษณ์ของสถานประกอบการเพื่อสุขภาพของไทย ไม่มีบริการด้านเพศมาแอบแฝง
ทางด้านพลตำรวจโททวีศักดิ์ ตู้จินดา ที่ปรึกษาคณะกรรมการตรวจประเมินมาตรฐานสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ กรมสบส. กล่าวว่า นวดไทยมีชื่อเสียงมาก ชาวเกาหลีบอกว่าให้ผลทั้งร่างกายจิตใจ และมีผลถึงจิตวิญญานด้วย กฎหมายฉบับนี้จะยกระดับสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ให้พ้นจากชื่อสถานประกอบการน้ำเสีย โดยตนมีแนวคิดยกระดับผู้ให้บริการให้เป็นวิชาชีพ มีใบประกอบวิชาชีพผู้ให้บริการสุขภาพ ไม่ใช่เรียกหมอนวด และผลักดันให้มีการตั้งเป็นสภาวิชาชีพเหมือนวิชาชีพอื่นๆ เพื่อทำหน้าที่ดูแลสมาชิก โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐกำกับดูแล ช่วยลดภาระภาครัฐ ส่วนสถานประกอบการที่ทำให้เสียสุขภาพ เสื่อมเสียภาพลักษณ์ประเทศ จะต้องทำให้หมดไป
ข่าวเด่น