การยางฯ เดินหน้า MOU ร่วมมือ 3 องค์กร จัดการสวนยางตามมาตรฐานสากล เอกชนต่อยอดผุดโรงงานแท่งเชื้อเพลิงชีวมวล
การยางแห่งประเทศไทย จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) ร่วม 3 องค์กร ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกร ด้านเอกชนต่อยอดเพิ่มมูลค่ายางพาราทุ่มกว่า 1,000 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตแท่งเชื้อเพลิงชีวมวล เพื่อเพิ่มการส่งออก โดยใช้ไม้ยางพาราเป็นวัตถุดิบ
ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ การยางแห่ง ประเทศไทย(กยท.) ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) “โครงการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืน ตามมาตรฐานในระดับสากล” ระหว่าง กยท. ตัวแทนภาครัฐ บริษัท สยามฟอเรสแมเนจเม้นท์ จำกัด ตัวแทนภาคเอกชน และสหกรณ์กองทุนสวนยางพ่วงพรมคร จำกัด ตัวแทนภาคเกษตรกร โดยบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือดังกล่าว เป็นการดำเนินการภายใต้โครงการยางพาราประชารัฐเพื่อพัฒนา และสร้างเกณฑ์การจัด สวนยางอย่างยั่งยืน ตามมาตรฐานในระดับสากล เช่น มาตรฐาน FSC โดยการมีส่วนร่วมของเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อเพิ่มมูลค่าไม้ยางพาราให้กับเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ ด้วยการใช้ไม้ยางพารา และเป็นผลิตภัณฑ์จาก ไม้ยางพาราจำหน่ายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึงพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมไม้ยางพารา และผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพาราอย่างครบวงจร โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ในส่วนของสหกรณ์กองทุนสวนยางพ่วงพรมคร จำกัด ซึ่งเป็นสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง จะดำเนินงานตาม MOU โดยสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยางให้มีส่วนร่วมพัฒนาสวนยางพารา ให้เป็นไป ตามมาตรฐานสากล
ด้าน บริษัท สยามฟอเรสแมเนจเม้นท์ จำกัด จะช่วยสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยางให้ได้มูลค่าเพิ่มในการขายไม้ยางพารา และผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพารา โดยบริษัทฯ มีแผนที่จะลงทุนสร้างโรงงานผลิตแท่งเชื้อเพลิงชีวมวล จากไม้ยางพาราเพื่อการส่งออก ขณะนี้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI ) แล้ว คาดว่าจะใช้เงินลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท ใช้เวลาในการก่อสร้างโรงงานประมาณ 2 ปี
สำหรับโรงงานผลิตแท่งเชื้อเพลิงชีวมวล ของบริษัทฯ จะใช้ไม้ยางพาราในส่วนที่เหลือใช้จากการผลิตเฟอร์นิเจอร์ เช่น กิ่ง แขนง ราก เศษขี้เลื่อยจากไม้ยางพารา เป็นต้น มาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตแท่งเชื้อเพลิง โดยนำมาบดให้เป็นผงละเอียด จากนั้นนำไปอบแห้ง เพื่อลดค่าความชื้น แล้วนำมาเข้าเครื่องอัดโดยใช้แรงดันสูงเพื่อให้สารลิกนินในเนื้อไม้ละลายออกมา ส่งผลให้ไม้เกาะติดกัน ซึ่งจะทำให้เกษตรกรชาวสวนยาง มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายต้นยางพาราเมื่อครบอายุที่จะโค่น เพราะสามารถขายได้ทั้งต้น เป็นการเพิ่มมูลค่าการใช้ยางพาราให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“หน้าที่ของ กยท. ตาม MOU ฉบับนี้ จะสนับสนุน ส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนยาง พัฒนาสวนยางของเกษตรกรตามมาตรฐานระดับสากล เช่น มาตรฐาน FSC(Forest Stewardship Council)หรือ PEFC(Programme for the Endorsement of Forest Certification) เพื่อเพิ่มมูลค่าไม้ยางพาราให้กับเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ โดยใช้ไม้ยางพาราและเป็นผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพาราในการจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ” ดร.ธีธัช กล่าว
ข่าวเด่น