ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
สบส. ผ่าตัดระบบคุ้มครองผู้บริโภคไทยแลนด์ยุค 4.0 ติด'คิวอาร์โค๊ด'ใบอนุญาตคลินิก -หมอ


 


สบส. ผ่าตัดระบบคุ้มครองผู้บริโภคไทยแลนด์ยุค 4.0 ติด'คิวอาร์โค๊ด'ใบอนุญาตคลินิก -หมอ สแกนรู้เร็ว ทันใจ

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ปรับระบบงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพ  รับการขับเคลื่อนประเทศไทยยุค 4.0 ติด “คิวอาร์โค๊ด” ใบอนุญาตโรงพยาบาล/คลินิก - หมอ ป้องกันการปลอมแปลงเอกสาร  ประชาชนสแกนตรวจสอบได้ทันทีทางมือถือ  และตั้งวอร์รูม ระดมผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาเข้ากลั่นกรองข้อมูล ปัญหาร้องเรียน  ขันน็อตประสิทธิภาพกลไกต่อเนื่อง    พร้อมไกล่เกลี่ยเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายสมเหตุสมผล  ใช้ไลน์ส่งข้อมูลความรู้สุขภาพของแท้  ถึงตัวประชาชนทุกคน ทุกหมู่บ้านสู้ภัยจากโซเซียลมีเดีย พร้อมเปิดระบบในเดือนตุลาคม 2559 นี้ แน่นอน       

 
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.)  กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในการขับเคลื่อนประเทศไทยยุค 4.0  เป็นยุคแห่งการพัฒนานวัตกรรมต่อยอดพัฒนาก้าวกระโดด    กรม สบส.ได้ปรับระบบงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านระบบบริการสุขภาพและความเข้มแข็งภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมภาครัฐดำเนินการในเรื่องนี้  เน้นเชิงรุกรวดเร็วยิ่งขึ้น    โดยได้พัฒนาระบบการตรวจสอบสถานพยาบาล  คลินิกเอกชนที่มีกว่า 20,000 แห่งทั่วประเทศ  โดยจะมีการใช้ระบบคิวอาร์โค๊ด (QR Code) ติดที่ใบอนุญาตการเปิดกิจการสถานพยาบาล และใบอนุญาตแพทย์ผู้ดำเนินการ  เพื่อให้ประชาชนใช้ตรวจสอบว่าเป็นใบอนุญาตที่ถูกต้องจริงหรือไม่  เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่ามีการปลอมแปลงเอกสารใบอนุญาตแพทย์ผู้ดำเนินการนำไปแสดงในคลินิก และให้บริการโดยบุคคลไม่ใช่แพทย์  โดยมีการนำรูปถ่ายบุคคลนั้นไปติดทับบนรูปถ่ายของแพทย์ตัวจริง  ซึ่งยากต่อการที่ประชาชนจะตรวจสอบได้  ดังนั้นกรม สบส.จึงคิดกระบวนการแก้ปัญหาโดยนำระบบคิวอาร์โค๊ดไปติดในใบอนุญาตทั้งใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาล และใบอนุญาตแพทย์ผู้ดำเนินการ    เมื่อประชาชนเห็นสัญลักษณ์ สามารถใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนของตนเอง  สแกนคิวอาร์โค๊ดเพื่อตรวจสอบยืนยัน  และทราบผลอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่วินาทีว่าสถานพยาบาลหรือแพทย์ที่ให้บริการขณะนั้น  ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับกรม สบส. หรือไม่ 
อธิบดีกรมสบส.กล่าวต่อว่า ข้อมูลที่บรรจุอยู่ในคิวอาร์โค๊ด จะแสดงเลขที่ใบอนุญาตสถานพยาบาลจำนวน 11 หลัก และเลขที่ใบอนุญาตผู้ดำเนินการซึ่งจะแสดงข้อมูลแพทย์ผู้ดำเนินการพร้อมภาพถ่าย   หากตรงกับที่ปรากฏในคลินิกทั้ง 2 หลักฐาน แสดงว่าเป็นสถานพยาบาลที่ถูกต้องและเป็นแพทย์จริง   ได้มอบหมายให้นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรม สบส. เป็นผู้ดำเนินการร่วมกับทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ  โดยจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดให้ทันใช้ภายในเดือนตุลาคม 2559 ซึ่งเป็นเดือนเริ่มต้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2560  
ทางด้าน นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรม สบส.กล่าวว่า ในยุคไทยแลนด์ 4.0 ทั้งผู้ผลิต ผู้ให้บริการควรทำหน้าที่คุ้มครองและมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค  ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานไม่ใช่รอให้เกิดเรื่องก่อนจึงค่อยมาแก้ไข    
 
โดยกรม สบส. จะใช้มาตรการเชิงรุกและการมีส่วนร่วม โดยจะจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการวอร์รูม (War Room) คุ้มครองผู้บริโภคเป็นการเฉพาะ    เพื่อพิจารณาทบทวนเรื่องร้องเรียนที่ได้รับเข้ามาเฉลี่ยปีละ 200 ครั้ง    วิเคราะห์สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งด้านสถานพยาบาล ผู้ให้บริการและปัญหาที่ประชาชนได้รับ   โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาจากหน่วยงานทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุขมาให้ข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้อง และฝ่ายกฎหมายกรม สบส.ร่วมกันดำเนินการทบทวนและกลั่นกรอง วิเคราะห์สภาพปัญหา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบบริการให้มีคุณภาพมาตรฐาน และนำไปสู่การแก้ไขไกล่เกลี่ยระหว่างผู้ประกอบการผู้ดำเนินการกับประชาชนที่เดือดร้อนให้ได้รับการเยียวยาที่สมเหตุสมผล   

รองอธิบดีกรม สบส.กล่าวต่อว่า วอร์รูมส่วนนี้จะเป็นกลไกในการคุ้มครองผู้บริโภคให้แก่ประชาชน ผู้ป่วย บุคลากรสาธารณสุข มีความสัมพันธ์อันดีมีความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้นด้วย   การดำเนินการเรื่องนี้ไม่ต้องใช้งบประมาณมากมาย เนื่องจากเป็นการต่อยอดบนฐานข้อมูลที่มีอยู่แล้ว  ทำให้งานเดินรุกไปข้างหน้าและมีความคล่องตัว ให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องไปถึงประชาชนให้เร็วที่สุด เนื่องจากยุคนี้เป็นยุคของการรับข้อมูลทั้งที่ตนเองไม่อยากได้   มีทั้งถูกและผิด จึงต้องเร่งจัดทำข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ส่งถึงตัวประชาชนให้เร็วที่สุดเช่นกัน  

ทางด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ  ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า ในการคุ้มครองผู้บริโภคในยุค 4.0 สำนักสถานพยาบาลฯ จะขยายเครือข่ายไปถึงภาคประชาชนคือ อสม. โดยร่วมมือกับศูนย์พิทักษ์สิทธิที่ดำเนินการโดย อสม.จัดอบรม อสม.ทั้ง 76 จังหวัดประมาณ 800 คน ในเรื่องการเรียนรู้ระบบการเฝ้าระวัง  การคุ้มครองผู้บริโภคทั้งด้านระบบบริการสุขภาพ   โดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารสุขภาพที่มีความบิดเบือนจากความเป็นจริงที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ   และจะใช้ระบบโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะไลน์ (LINE)  เป็นช่องทางสื่อสารตั้งแต่ระดับกรมสบส. ลงถึง อสม.ในศูนย์พิทักษ์สิทธิ 76 จังหวัด  จากนั้นจะกระจายลงสู่ช่องทางเครือข่าย อสม.ระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน และเข้าสู่ครัวเรือนรายบุคคล   ขณะนี้ได้วางระบบเรียบร้อยแล้ว มั่นใจว่าในยุคต่อไปนี้ข้อมูลทางไลน์จากกรมสบส.จะถึงประชาชนไทย  60 ล้านคนในเวลาที่รวดเร็ว   เป็นการใช้เครือข่ายเทคโนโลยีที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์  ซึ่งบทบาทของ อสม.จากนี้ไปจะเป็นผู้แชร์ข้อมูลสุขภาพที่ถูกต้อง ที่ผ่านการกลั่นกรองจากภาครัฐคือวอร์รูมของกรม สบส.  ทำให้ประชาชนปลอดภัยจากความเสี่ยงของการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง หรือคำแนะนำที่ผิดๆเป็นภัยต่อสุขภาพ


บันทึกโดย : วันที่ : 31 ก.ค. 2559 เวลา : 12:21:28

03-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 3, 2025, 11:07 am