สค.เผยตลาดสหรัฐฯ นำเข้าสับปะรด 4.3 หมื่นล้าน แนวโน้มนำเข้าจากไทยเพิ่ม หวังรีเอ็กสปอร์ต ชี้ผู้บริโภคนิยมสินค้าแปรรูป-อบแห้ง ปี 58 สับปะรดกระป๋องไทยครองส่วนแบ่งตลาด 59 %
นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาวะสินค้าสับปะรดในตลาดสหรัฐอเมริกาขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 มีมูลค่า 1,147 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 4.13 หมื่นล้านบาท) คาดว่าปี 2559 ตลาดสินค้าสับปะรดภาพรวมจะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5 – 8 หรือคิดเป็นมูลค่า 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 4.3 หมื่นล้านบาท) และมีแนวโน้มนำเข้าสินค้าสับปะรดเพิ่มมากขึ้น เพื่อส่งออกต่อไปยังประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ และแคนาดา เป็นต้น
สินค้าสับปะรดไทยที่มีศักยภาพในการทำตลาดในสหรัฐฯ ได้แก่ สับปะรดกระป๋องและน้ำสับปะรด และสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะนำเข้าจากไทยเพิ่มมากขึ้นอีก โดยสหรัฐฯ นำเข้าสับปะรดกระป๋องจากไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 59 รองลงมา ได้แก่ ฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 25) อินโดนีเซีย (ร้อยละ 9) จีน (ร้อยละ 2) และเวียดนาม (ร้อยละ 2) ในด้านของน้ำสับปะรด สหรัฐฯ นำเข้าน้ำสับปะรดจากไทยมากเป็นอันดับ 1 เช่นกัน คิดเป็นร้อยละ 48 รองลงมา ได้แก่ ฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 18) คอสตาริกา (ร้อยละ 17) อินโดนีเซีย (ร้อยละ 11) และเคนยา (ร้อยละ 1) ตามลำดับ
อย่างไรก็ตามในระยะยาวผู้บริโภคชาวอเมริกันมีแนวโน้มต้องการบริโภคสินค้าอาหารกระป๋องลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้บริโภคชาวอเมริกันในปัจจุบันให้ความสำคัญในการเลือกบริโภคสินค้าอาหารมากขึ้นและมักจะระมัดระวังการบริโภคอาหาร ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรที่จะให้ความสำคัญและติดตามแนวโน้มตลาดผู้บริโภคเป้าหมายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเตรียมความพร้อมในการปรับตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
“แนวโน้มการบริโภคสินค้าอาหารปลอดสารพิษและสินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นที่นิยมมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกัน โดยเฉพาะกลุ่มมิลเลนเนียล (Millennial) และกลุ่มเบบี้ บูมเมอร์ส (Baby Boomers) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดในสหรัฐฯ รวมถึงกลุ่มผู้บริโภคเหล่านี้ยังมีแนวโน้มที่จะหันมาบริโภคสินค้าผักและผลไม้อบแห้งที่มีคุณค่าทางอาหารทดแทนขนมขบเคี้ยวมากขึ้นอีกด้วย จึงนับเป็นโอกาสในการทำตลาดผลไม้อบแห้งโดยเฉพาะสับปะรดอบแห้งของไทย” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าว
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองไมอามี สหรัฐอเมริกา ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการควรคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์สับปะรดแปรรูปใหม่ๆ เพื่อสร้างมูลค่าให้สินค้าและตอบสนองความต้องการผู้บริโภคในปัจจุบัน เช่น คุกกี้ทำจากสับปะรดอบแห้ง หรือ สับปะรดอบแห้งชุบช็อคโกแลต เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและโอกาสสำคัญในการขยายตลาดสินค้าแปรรูปของไทยในสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าสับปะรดอบแห้งมีราคาจำหน่ายในตลาดสูงกว่าสินค้าสับปะรดแปรรูปชนิดอื่น ๆ
นอกจากคุณภาพสินค้าแล้ว ปัจจัยด้านการออกแบบและคุณภาพของบรรจุภัณฑ์เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคชาวอเมริกันเช่นเดียวกัน ดังนั้นผู้ผลิตไทยควรศึกษาแนวโน้มความต้องการและรสนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้สามารถเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย เช่น การยกเลิกการใช้กระป๋องที่มีสาร BPA ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งเจือปนในการบรรจุอาหาร เป็นต้น โดยเฉพาะองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ มีข้อกำหนดการอนุญาตนำเข้าสินค้าอาหารค่อนข้างเข้มงวดทั้งในแง่ของคุณภาพสินค้าและบรรจุภัณฑ์ รวมถึงฉลากสินค้า ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาข้อกำหนดอย่างละเอียด เพื่อป้องกันการปฏิเสธการนำเข้าสินค้าในอนาคต
ในปี 2558 ตลาดสับปะรดในสหรัฐฯ ประกอบด้วย สับปะรดสด มีสัดส่วน 573 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 2.06 หมื่นล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 50 สับปะรดกระป๋อง มีสัดส่วนร้อยละ 34 น้ำสับปะรดมีสัดส่วนร้อยละ 10 และสับปะรดแช่แข็งมีสัดส่วนร้อยละ 5 ทั้งนี้เฉพาะสับปะรดกระป๋องสหรัฐฯ นำเข้าจากทั่วโลกเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 387 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.39 หมื่นล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 25.7 ส่วนสับปะรดสดแม้นำเข้ามากและเป็นที่นิยมในสหรัฐฯ แต่ไม่ปรากฏสินค้าจากไทย เนื่องจากระยะทางการขนส่งค่อนข้างไกล ทำให้เน่าเสียได้ง่าย
ผู้ประกอบการสินค้าอาหารที่สนใจทำตลาดในสหรัฐอเมริกาสามารถเข้าร่วมกิจกรรมและโครงการต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ เช่น การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่มีศักยภาพในสหรัฐฯ ได้แก่ งานแสดงสินค้า Summer Fancy Food Show จัดขึ้น ณ นครนิวยอร์ก หรืองานแสดงสินค้า Americas Food and Beverage Show จัดขึ้น ณ เมืองไมอามี ภายใต้โครงการ SMEs Proactive เป็นต้น
ข่าวเด่น