สวทช. ร่วมกับ สภาหอการค้าฯ หนุนผู้ประกอบการสินค้าผักและผลไม้ไทยพัฒนาระบบการผลิตที่ปลอดภัยด้วย “Primary ThaiGAP” มาตรฐานระดับพื้นฐานในประเทศนำร่องแห่งแรกที่สกลนคร ก่อนจัดต่อเนื่องอีก 4 ภาคทั่วไทย
เมื่อวันที่ 26-29 ก.ค. 59ที่จังหวัดสกลนคร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ดำเนิน “โครงการพัฒนาระบบการผลิตที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน Primary ThaiGAP” มุ่งขยายการทำงานจากส่วนกลางไปสู่ภูมิภาค เพื่อยกระดับและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผักและผลไม้ไทยให้สามารถผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่มีคุณภาพปลอดภัยและเป็นที่ยอมรับของตลาดและผู้บริโภค ด้วยการส่งเสริมให้ได้รับการฝึกอบรมและสร้างฟาร์มต้นแบบในพื้นที่ รวมทั้งเพิ่มทักษะแก่กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ให้เป็นที่ปรึกษาฟาร์มและผู้ตรวจประเมินภายในฟาร์มตามมาตรฐาน Primary ThaiGAP นำร่องอบรมเชิงปฏิบัติการแห่งแรกที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.สกลนคร) ก่อนจะดำเนินต่อไปอีก 4 ภาคทั่วไทย พร้อมตั้งเป้ามีกลุ่มเกษตรกรได้รับมาตรฐาน Primary ThaiGAP 40 รายทั่วประเทศ ภายในกลางปีหน้า
นางสาวชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรม ITAP สวทช. กล่าวว่า “จากการดำเนินโครงการ “การยกระดับและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการด้านสินค้าผักและผลไม้เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ AEC ด้วย ThaiGAP” ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ที่ได้ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 ถึงปัจจุบัน คณะทำงานโครงการฯ พบกับปัญหาและอุปสรรคคือ ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับผักและผลไม้ส่วนใหญ่ เป็นองค์กรที่มีขนาดเล็กหรือเป็นลูกค้ารายย่อยที่ขาดศักยภาพทางด้านการแข่งขันและการพัฒนาเทคโนโลยีขององค์กร เนื่องจากขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้และความสามารถเฉพาะทาง รวมถึงขาดแคลนเงินทุนที่จะใช้ในการพัฒนาคุณภาพสินค้า และยกระดับมาตรฐานสินค้าตามข้อกำหนดและมาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐาน GlobalGAP (ส่งออกต่างประเทศ) ซึ่งมีข้อกำหนด 26 ข้อใหญ่ 234 ข้อย่อย และมาตรฐาน ThaiGAP (ระดับสูงสำหรับในประเทศ) ซึ่งมีข้อกำหนด 17 ข้อใหญ่ 167 ข้อย่อย จากข้อจำกัดดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับผักและผลไม้มีความพร้อมที่จะขอรับการสนับสนุนเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวจำนวนน้อย
ดังนั้น คณะทำงานจึงริเริ่มโครงการ “การพัฒนาระบบการผลิตที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน Primary ThaiGAP” ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับพื้นฐานสำหรับในประเทศ ที่มีข้อกำหนดไม่มากจนเกินไป มีข้อกำหนด 6 ข้อใหญ่ 24 ข้อย่อย เน้นเฉพาะระบบความปลอดภัยในการผลิต ที่จะทำให้เกษตรกรเข้าใจง่ายและสามารถนำไปปฏิบัติได้ถูกต้อง ได้แก่ (1) การทำแผนการผลิต วันเก็บเกี่ยว และคาดการณ์ผลผลิต (2) การใช้น้ำในการเพาะปลูก (3) การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช (4) การใช้ปุ๋ยเคมีและอินทรีย์ (5) การเก็บเกี่ยวและจัดการหลังเก็บเกี่ยว และ (6) การบันทึกและการตามสอบ ซึ่งจะเป็นการสอดรับกับวัตถุประสงค์ของโปรแกรม ITAP สวทช. ที่ให้การสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ในการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันและยกระดับมาตรฐานการทำงาน รวมถึงเทคโนโลยีการผลิต ให้เท่าทันสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแข่งขันรุนแรงในตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)”
“โครงการพัฒนาระบบการผลิตที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน Primary ThaiGAP มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 12 เดือน (1 ก.ค. 59 - 30 มิ.ย. 60) โดยจะขยายการทำงานจากส่วนกลางไปสู่ภูมิภาค เพื่อยกระดับและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผักและผลไม้ไทยในหลายส่วน ได้แก่ การพัฒนากลุ่มเกษตรกรการเกษตรด้านผักและผลไม้ให้สามารถผลิตสินค้าเกษตรและอาหารของไทยที่มีคุณภาพปลอดภัยและเป็นที่ยอมรับของตลาดและผู้บริโภค การส่งเสริมให้ได้รับการฝึกอบรมและสร้างฟาร์มต้นแบบในพื้นที่ และการขยายผลในเรื่องการเพิ่มทักษะแก่กลุ่มเกษตรกรดังกล่าวให้เป็นที่ปรึกษาฟาร์ม และผู้ตรวจประเมินภายในฟาร์มตามมาตรฐาน Primary ThaiGAP ด้วย ซึ่งการอบรมเชิงปฏิบัติการจะเริ่มต้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.สกลนคร) เป็นที่แรก ก่อนจะดำเนินต่อไปอีก 4 แห่งที่ภาคเหนือตอนล่าง (จ.พิษณุโลก) ภาคใต้ (จ.สุราษฎร์ธานี) ภาคเหนือตอนบน (จ.เชียงราย) และภาคตะวันออก (จ.จันทบุรี) พร้อมตั้งเป้ามีกลุ่มเกษตรกรได้รับรองมาตรฐาน Primary ThaiGAP จำนวน 40 รายทั่วประเทศ และจะมีการนำเสนอผลงานผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรองมาตรฐาน Primary ThaiGAP ในงานแสดงอาหารระดับนานาชาติ THAIFEX 2017 ต่อไป” นางสาวชนากานต์ สันตยานนท์ กล่าว
ด้าน นายเศกสรร ชนาวิโชติ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า “สวทช. ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าจังหวัดสกลนคร จัดโครงการพัฒนาระบบการผลิตที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน Primary ThaiGAP ขึ้น โดยนำเข้ามาสู่พื้นที่ จ.สกลนคร ซึ่งจะมุ่งเน้นที่ตัวสหกรณ์ ด้วยการนำองค์ความรู้และมาตรฐานสินค้าทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานขั้นพื้นฐานอย่าง Primary ThaiGAP หรือจะเป็นมาตรฐานที่สูงขึ้นไปคือ ThaiGAP เข้ามาพัฒนาและช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และผลิตผล จากเดิมที่ขายมาและขายไป แต่โครงการนี้เกษตรกรสามารถที่จะปลูกพืชผลเกษตรตัวใดตัวหนึ่งขึ้นมา แล้วเข้าร่วมในการจัดทำมาตรฐาน จะทำให้มีตลาดใหม่ๆ ที่เรียกได้ว่าจะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผลประโยชน์นี้เองจะกลับไปยังเกษตรกรทุกคนต่อไป นอกจากนี้ ปัจจุบันจังหวัดสกลนครกำลังผลักดันยุทธศาสตร์จังหวัดที่มุ่งเน้นในการเป็นเมืองสินค้าเกษตรปลอดภัย อาหารปลอดภัย ซึ่งการนำเอามาตรฐานของ ThaiGAP หรือ Primary ThaiGAP เข้ามา จะช่วยสนับสนุนในการเป็นเมืองเกษตรปลอดภัยของจังหวัดตรงนี้ได้อีกทางหนึ่งด้วย”
พร้อมนี้ ในการดำเนิน “โครงการพัฒนาระบบการผลิตที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน Primary ThaiGAP” ณ จังหวัดสกลนคร ได้มีการนำกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ที่จะเป็นที่ปรึกษาฟาร์มและผู้ตรวจประเมินภายในฟาร์มตามมาตรฐาน Primary ThaiGAP ลงพื้นที่ศึกษาดูงานแปลงผลิตสินค้าเกษตร จำนวน 2 แปลง คือ แปลงมะละกอ และแปลงพริก ซึ่งแปลงสวนมะละกอตัวอย่าง ตั้งอยู่ที่ สวนเกษตรทอง อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร โดย คุณอานนท์ คูสกุลธรรม เจ้าของสวน เป็นแปลงปลูกมะละกอ มีขนาดพื้นที่ประมาณ 200 ไร่ เป็นแปลงที่กำลังได้รับการรับรองมาตรฐาน ThaiGAP ขณะที่อีกแปลง สวนพริกตัวอย่าง ตั้งอยู่ที่หมู่ 12 บ้านโนนศาลา ต.เชียงเครือ อ.เมือง จ.สกลนคร โดย คุณสมบัติ นึกชอบ เจ้าของสวน เป็นแปลงปลูกพริก มีขนาดพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ โดยเป็นแปลงใหม่ที่เกษตรกรมีความสนใจและกำลังเข้าร่วมโครงการพัฒนาระบบตามมาตรฐาน Primary ThaiGAP
สำหรับกิจกรรมการลงพื้นที่แปลงผลิตสินค้าเกษตร เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อให้กลุ่มเกษตรกรการเกษตรด้านผักและผลไม้ที่ต้องการเป็นที่ปรึกษาให้เกษตรกรเครือข่าย และผู้ตรวจสอบภายในพื้นที่ (Internal Auditor) เข้าประเมินและศึกษาความเสี่ยงของแปลงผลิต ว่าแปลงนั้นๆ เป็นไปตามมาตรฐานของ Primary ThaiGAP / ThaiGAP หรือไม่ ซึ่งการได้รับการรับรองมาตรฐาน Primary ThaiGAP จะช่วยยืนยันถึงความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหารในท้องถิ่น รวมทั้งเป็นสินค้าเกษตรที่สามารถตรวจสอบได้ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ตลอดจนสามารถสร้างกลุ่มตลาดใหม่ๆ ได้อีกจำนวนมาก เพื่อรองรับตลาด ร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงพยาบาล และตลาดสดในท้องถิ่น เป็นต้น
ผู้ประกอบการหรือกลุ่มเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการในเขตภูมิภาคอื่นๆ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่โปรแกรม ITAP สวทช. คุณพนิตา ศรีประย่า โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1301, 089-1715661หรืออีเมล์ panita@nstda.or.th
ข่าวเด่น