นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ที่มีรมว.พลังงานเป็นประธานเมื่อวันที่ 1 ส.ค. ว่า กบง.มีมติให้คงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม(LPG) ไว้ที่ระดับ 20.29 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) แม้ราคาต้นทุนเฉลี่ยการจัดหา LPG ทั้งระบบจะลดลงก็ตาม แต่เพื่อเป็นการลดภาระการชดเชยของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในส่วนของ LPG และเตรียมการเปิดเสรีธุรกิจ LPG ในอนาคตจึงให้คงราคาขายปลีก LPG ดังกล่าว โดยการปรับอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ สำหรับ LPG เพิ่มขึ้น 0.3261 บาท/กก. เป็น 0.3908 บาท/กก. โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค.เป็นต้นไป
จากการปรับอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯดังกล่าว ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯในส่วนราคา LPG มีรายรับประมาณ 133 ล้านบาท/เดือน โดยฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 31 ก.ค.59 อยู่ที่ 44,268 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชี LPG อยู่ที่ 7,148 ล้านบาท และ บัญชีน้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ 37,120 ล้านบาท
สำหรับสถานการณ์ราคา LPG เดือนส.ค.59 ราคาตลาดโลก (CP) อยู่ที่ระดับ 287 เหรียญสหรัฐ/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน 14 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนก.ค.59 แข็งค่าขึ้นจากเดือนก่อน 0.2280 บาท/เหรียญสหรัฐ มาอยู่ที่ 35.2453 บาท/เหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ราคาต้นทุนเฉลี่ยการจัดหา LPG ทั้งระบบ ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นของ LPG (LPG Pool) ปรับตัวลดลง 0.3261 บาท/กก. จาก 13.2543 บาท/กก. เป็น 12.9282 บาท/กก.
โครงสร้างราคา LPG เดือนส.ค.59 มาจากแหล่งผลิตและแหล่งจัดหาเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักทุก ๆ 3 เดือน เพื่อใช้เป็นราคาต้นทุน LPG ในช่วงเดือนส.ค.-ต.ค.59 ได้แก่ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ อยู่ที่ 14.7286 บาท/กก. ลดลง 0.2415 บาท/กก. จากราคาเนื้อก๊าซฯ ค่าเชื้อเพลิงในการผลิต และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่ปรับตัวลดลง ,โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงและโรงงานอะโรเมติกส์ คงเดิมที่ CP-20 เหรียญสหรัฐ/ตัน ,การนำเข้า คงเดิมที่ CP+85 เหรียญสหรัฐ/ตัน และบริษัท ปตท.สผ.สยาม อยู่ที่ 15 บาท/กก. ลดลง 0.10 บาท/กก. เนื่องจากค่าดำเนินการที่ปรับลดลง
ข่าวเด่น