ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
พาณิชย์เผยบ.ญี่ปุ่น 33% มีแผนขยายการลงทุนในไทย


 


เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2559 ประธานหอการค้าญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (JCC) (นายชินโกะ ซาโตะ) พร้อมคณะผู้บริหาร เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางอภิรดี ตันตราภรณ์) เพื่อรับทราบนโยบายด้านเศรษฐกิจ และหารือเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย 

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า JCC นำคณะผู้บริหารชุดใหม่เข้ามาแนะนำตัว พร้อมหารือประเด็นทางเศรษฐกิจต่างๆ รวมถึงรายงานผลการสํารวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ช่วงครึ่งแรกของปี 2559 โดยผลการสำรวจดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยมีแนวโน้มเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นกว่าครึ่งหลังของปี 2558 ประเทศไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น และคาดว่าเศรษฐกิจในประเทศไทยจะปรับตัวดีขึ้นในครึ่งหลังของปี 2559 
 

ทั้งนี้ บริษัทญี่ปุ่นร้อยละ 33 มีแผนจะขยายการลงทุนในประเทศ และบริษัทญี่ปุ่นอีกร้อยละ 50 จะไม่เปลี่ยนแปลงปริมาณการส่งออกจากประเทศไทย นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ยืนยันว่าจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนชาวญี่ปุ่น รวมถึงประสานหน่วยงานอื่นเพื่อพิจารณาในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เพื่อตอบสนองต่อข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยและประเด็นปัญหาต่างๆ ทางพิธีการศุลกากรของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย 
 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้แจ้งภาคเอกชนญี่ปุ่นว่า “รัฐบาลมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน โดยมีนโยบายต่างๆ อาทิ นโยบายการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อการทำธุรกิจและการลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสนับสนุนการพัฒนาผู้ประกอบการ การยกระดับอุตสาหกรรมสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรม และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด Thailand Plus One ของญี่ปุ่น ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความยินดีที่จะต้อนรับผู้ประกอบการ SME และนักลงทุนของญี่ปุ่นที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น”
 

อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยได้ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างหลากหลายเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามพ้นกับดักรายได้ปานกลางและมุ่งไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ อาทิ ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (2017–2036) เศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต และนโยบายประเทศไทย 4.0 เป็นต้น

นางอภิรดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ ขอให้กระทรวงพาณิชย์สนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา มีจำนวนสมาชิกผู้ประกอบการ SME ของญี่ปุ่น มาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น จึงต้องการให้รัฐบาลไทยออกมาตรการส่งเสริมแรงจูงใจในการลงทุนให้มากกว่าที่ได้รับในขณะนี้ อีกทั้ง ยังได้หารือเกี่ยวกับการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่า ปรารถนาให้การเจรจาความตกลงดังกล่าวบรรลุผลได้ภายในปลายปี 2559 ตามที่ได้ตกลงไว้ เพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chain) ของประเทศสมาชิก 
 

ญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย เป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทย รองจากจีน ในปี 2558 มูลค่าการค้ารวมประมาณ 51,311.75 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปี 2557 ที่มีมูลค่า 57,247.38 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 10.37  โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2554-2558) มีมูลค่าการค้าเฉลี่ยปีละ 62,031.29 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ในปี 2559 (ม.ค.-พ.ค.) การค้ารวมระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมีมูลค่า 20,889.77 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 4.38





 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 ส.ค. 2559 เวลา : 10:32:42

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:12 am