ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
'eGovernment Forum 2016'สัมมนาวิชาการด้านเทคโนโลยี


 


'eGovernment Forum 2016”'สัมมนาวิชาการด้านเทคโนโลยี 3-4 ส.ค. นี้ภายใต้แนวคิด The Challenges of Government Innovation : Disruptive Government

สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) ร่วมกับ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จัดโครงการ eGovernment Forum 2016 ภายใต้แนวคิดหลัก The Challenges of Government Innovation : Disruptive Government อบรมสัมมนาวิชาการเพื่อการบูรณาการภาครัฐระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินงาน นำเทคโนโลยีและอุปกรณ์ดิจิทัลมาสนับสนุนการปฏิบัติงาน โดยคำนึงถึงการให้บริการแบบมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ขับเคลื่อนไปสู่การเปลี่ยนแปลง ยกระดับภาครัฐไทยสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง 
 
 
 
 

รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) กล่าวว่า “eGovernment Forum 2016 จะเป็นเวทีสำคัญในการอภิปรายและนำเสนอเทคโนโลยีที่สอดรับกับการเข้าสู่ยุคระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่เทคโนโลยีดิจิทัลจะไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือสนับสนุนการทำงานอีกต่อไป  หากแต่จะหลอมรวมเข้ากับชีวิตคนอย่างแท้จริง และจะเปลี่ยนโครงสร้างรูปแบบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กระบวนการผลิต การค้า การบริการ และกระบวนการทางสังคมอื่นๆ รวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไปอย่างสิ้นเชิง ประเทศไทยจึงต้องให้เร่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ สมาคม ATCI ตระหนักถึงความท้าทายและโอกาสดังกล่าว ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลที่มีความชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาในระดับประเทศที่สอดคล้องกันระหว่างทุกหน่วยงาน โดยมีองค์ประกอบของยุทธศาสตร์กรอบการพัฒนา และแผนการดำเนินงาน (Roadmap) เพื่อเป็นแนวทางการยกระดับขีดความสามารถเชิงดิจิทัลของภาครัฐไทย” 
 
 
ดร.พันธ์ศักดิ์  ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า “การยกระดับภาครัฐไทยสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และหน่วยงานภาครัฐ โดยภาคประชาชนนอกจากจะได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้นแล้ว บริการที่ได้รับยังมีคุณภาพ ตรงตามความต้องการรายบุคคล และตรงตามสิทธิมากยิ่งขึ้นด้วย ภายใต้กรอบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยจากการคุกคามภายในและภายนอกประเทศที่มีมาตรฐาน  สำหรับภาคธุรกิจ การยกระดับภาครัฐไทยสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลไม่เพียงแต่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายและการติดต่อภาครัฐ  แต่ยังเป็นการสร้างปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ ตั้งแต่การวางแผนธุรกิจ เริ่มต้นธุรกิจ  ดำเนินกิจการ ไปจนถึงขยายธุรกิจ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการให้ทัดเทียมกับระดับสากล  อันจะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ  นอกจากนี้ การยกระดับภาครัฐไทยสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลยังก่อให้เกิดการบูรณาการภายในภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาภพ  เพิ่มความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงาน  เพิ่มความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่  และช่วยให้หน่วยงานภาครัฐพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันโดยมีเทคโนโลยีสนับสนุน  เพื่อสร้างเสถียรภาพให้ประเทศไทยสามารถก้าวไปอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”
 

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (ETDA) หรือเอ็ตด้า กล่าวว่า สถานการณ์ภัยคุกคามไซเบอร์ได้ทวีความรุนแรงและเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี จากการวิเคราะห์ในรายละเอียดพบว่า หน่วยงานภาครัฐได้ตกเป็นเป้าหมายของภัยคุกคามประเภท Malicious Code และ Intrusion ซึ่งมักจะเป็นการเปลี่ยนแปลงหน้าเว็บไซต์ หรือ Web Defacement อย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากข่าวสารที่เผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ ส่วนภาคเอกชนก็มักตกเป็นเป้าหมายของการหลอกลวง ซึ่งมักมุ่งประโยชน์ทางการเงินเป็นหลัก ETDA ในฐานะหน่วยงานที่ส่งเสริมธุรกรรมออนไลน์ให้เกิดความมั่งคงปลอดภัย และมีไทยเซิร์ตเป็นส่วนงานสำคัญในการรับมือและตอบสนองต่อภัยคุกคามไซเบอร์เพื่อให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้ทำธุรกรรมออนไลน์อย่างมั่นคงปลอดภัย จึงได้ดำเนินโครงการเพื่อดูแลหน่วยงานภาครัฐให้มีภูมิคุ้มกันจากปัญหาดังกล่าว ภายใต้โครงการ ThaiCERT Government Monitoring System (GMS) ประกอบด้วย การตรวจจับและเฝ้าระวัง (GTM: Government Threat Monitoring) และการตรวจจับและป้องกันการโจมตี (GWP: Government Website Protection) เพื่อส่งเสริมและวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้สามารถขับเคลื่อนได้อย่างจริงจัง
 

คุณปิยธิดา ตันตระกูล  ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เทรนด์ไมโคร (ประเทศไทย) จำกัดกล่าวว่า นโยบายการดำเนินธุรกิจ จะเน้นด้านระบบรักษาความปลอดภัยจากการคุกคามภายในและภายนอก ด้วยมาตราฐานระบบสากลโลก อีกทั้งยังมีการนวัตกรรมล้ำหน้า เพื่อตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรในปัจจุบัน การมีส่วนร่วมในงานครั้งนี้ เช่น การบรรยาย การเสวนา นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่จัดแสดงในงาน ทางบริษัท ฯ ได้นำความรู้ในเรื่องภัยคุกคามในปัจจุบัน และเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์ เพื่อให้องค์กรภาครัฐที่เป็นหัวใจหลักของประเทศ ได้มีการเตรียมตัวเตรียมพร้อมรับมือ เมื่อพบภัยคุกคามในปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์หรือองค์ความรู้ที่เหมาะสมสอดคล้องกับ eGovernment ผลิตภัณฑ์ของบริษัท มีการเน้นการรักษาความปลอดภัยใน ดาต้าเซนเตอร์ขององค์กร โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้ ระดับลูกข่ายทั่วไปขององค์กร, ระดับดาต้าเซนเตอร์ และดาต้าเซนเตอร์เสมือน และระดับเน็ตเวิรค ซึ่งในแต่ละระดับทางบริษัทมีโซลูชั่นที่สามารถรักษาความปลอดภัยจากภัยคุกคามทั้งภายนอกและภายใน ได้ อีกทั้งยังสามารถมองเห็นภาพโดยรวมของการทำงานโดยผ่าน Centralize Management 


ไฮไลท์และความน่าสนใจในงานครั้งนี้ มีอาทิเช่น การปาฐกถาพิเศษของผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐ และเอกชนระดับประเทศ, การร่วมเสวนาจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ, การประชุมห้องย่อยของ CIOs ภาครัฐ และชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย (ICTSEC) ส่วนแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่น่าสนใจจากผู้ประกอบการด้านไอซีที ได้แก่ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน),สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน), สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน), บริษัท เทรนด์ไมโคร (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จํากัด, บริษัท เอ็นอีซี คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จํากัด, Exclusive Network Thailand, บริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จํากัด, บริษัท ไอเวอร์สัน เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ จำกัด, บริษัท แบงคอคซิสเท็มแอนด์ซอฟแวร์ จำกัด และบริษัท ฟูจิ ซีร็อกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 ส.ค. 2559 เวลา : 17:38:51

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:18 am