รมวมหาดไทย เผยโครงการหมู่บ้านละ 2 แสน สำเร็จตามเป้าหมาย 99 % กระจายเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานรากกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท
เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 59 พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ หรือโครงการหมู่บ้านละ 2 แสน เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภูมิภาคทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยสนับสนุนงบประมาณ ให้แก่หมู่บ้าน จำนวน 74,588 หมู่บ้าน ภายในวงเงินไม่เกิน 1.5 หมื่นล้านบาท โดยมีคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) เป็นกลไกในการขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ และมอบหมายให้กรมการปกครองเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบ สั่งการ กำกับดูแล ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการ กำหนดห้วงเวลาดำเนินการภายใน 90 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม และเสร็จสิ้นโครงการในวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา
กระทรวงมหาดไทยขอเรียนให้ทราบถึงผลการดำเนินการภายหลังเสร็จสิ้นโครงการ โดยมีหมู่บ้านที่เสนอโครงการ ครบทุกหมู่บ้าน เป็นจำนวนโครงการทั้งสิ้น 85,443 โครงการ งบประมาณที่ได้รับอนุมัติ 14,907,249,120 บาท มีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จและมีการเบิกจ่ายงบประมาณแล้ว จำนวน 85,347 โครงการ เป็นเงิน 14,881,370,567 บาท คิดเป็นร้อยละ 99.83 (ข้อมูล ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2559) ซึ่งมีจังหวัดที่มีผลการเบิกจ่ายแล้ว 100% จำนวน 57 จังหวัด
ทั้งนี้ สำหรับโครงการที่ไม่สามารถดำเนินการเบิกจ่ายได้ทันตามห้วงเวลาที่กำหนด เนื่องจากหมู่บ้านที่ดำเนินโครงการประสบภัยธรรมชาติหรือมีเหตุสุดวิสัย ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้เสนอคณะรัฐมนตรีขอขยายระยะเวลาดำเนินการ เป็นสิ้นสุดวันที่ 29 สิงหาคม 2559 รวมจำนวน 432 โครงการ งบประมาณ 79,651,200 บาท ขณะนี้มีการเบิกจ่ายงบประมาณไปแล้ว 385 โครงการ และอยู่ระหว่างดำเนินการ 47 โครงการ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลสำเร็จของโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ หรือโครงการหมู่บ้านละ 2 แสน นอกเหนือจากการเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามเป้าหมายที่กำหนดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานรากแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของประชาชนในแต่ละหมู่บ้านให้มีส่วนร่วมช่วยกันคิด ช่วยกันนำเสนอปัญหาและวิธีแก้ไขปัญหาได้ตรงกับความต้องการของหมู่บ้าน และช่วยกันทำอย่างเป็นระบบ ก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ เกิดความสมัครสมานสามัคคีภายในหมู่บ้าน/ชุมชน ตามแนวทาง “ประชารัฐ” ทั้งหมดนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
ข่าวเด่น