เมื่อ 4 ส.ค. นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เตรียมเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้าว ทั้งสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมโรงสีข้าวไทย และตัวแทนจากเกษตรกร หารือถึงสถานการณ์ข้าวในปี 2559/60 เพื่อกำหนดแนวทางในการดูแลราคา ซึ่งในการหารือกันจะมีการประเมินถึงสถานการณ์ตลาดในภาพ ทั้งการส่งออกข้าวและตลาดในประเทศ ถึงจะสามารถกำหนดราคาข้าวในใจได้ว่าข้าวเปลือกควรจะอยู่ระดับเท่าไหร่ ที่จะเหมาะสมกับรายได้ของเกษตรกรและไม่กระทบกับกลไกตลาด
“ราคาข้าวเปลือกในฤดูกาลปี 2559/2560 โดยเฉพาะข้าวเปลือกเจ้าอาจที่จะมีการตั้งราคาในใจ แต่จะเป็นเท่าไหร่ ยังไม่ทราบ รอหารือกับทุกฝ่ายก่อน ซึ่งมีหลายปัจจัยที่เข้ามากระทบในเรื่องของราคา แต่ปัจจุบันราคาขายข้าวเปลือกเจ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 9,000 บาท/ตัน บางจังหวัดข้าวเปลือกซื้อขายทะลุ 10,000บาท/ตัน เพราะผลผลิตน้อย โดยในฤดูกาลผลิต 2559/2560 ตามแผนข้าวครบวงจรได้มีการกำหนดพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั้งปีอยู่ที่ 27.7 ล้านตันข้าวเปลือก แบ่งเป็น ข้าวเปลือกนาปี 2559/2560 ประมาณ 23.29 ล้านตัน และข้าวเปลือกนาปรัง 2560 ประมาณ 3.88 ล้านตัน” น.ส.ชุติมาระบุ
สำหรับมาตรการรองรับ ผลผลิตข้าวเปลือกนาปี ฤดูกาล 2559/60 ที่จะทยอยออกมาช่วงเดือนพ.ย. คือ ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว และข้าวหอมจังหวัด โดยผลผลิตจะออกมาพร้อมกันมากในช่วง 2 เดือน ขณะนี้รัฐบาลได้เตรียมแผนรับมือไว้แล้ว โดยจะใช้มาตรการรับจำนำยุ้งฉาง ตั้งเป้ามีข้าวหอมมะลิเข้าโครงการประมาณ 5 ล้านตัน โดยได้รับค่าฝากเก็บ 1,500 บาท/ตัน/2 เดือน เบื้องต้นทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เตรียมงบประมาณ 3,900 ล้านบาท ไว้เป็นค่าฝากเก็บในส่วนของการรับจำนำข้าวยุ้งฉางเบื้องต้น 2 ล้านตัน แต่ราคารับจำนำยุ้งฉางยังไม่กำหนดออกมา คาดว่าราคารับจำนำน่าจะใกล้เคียงกับฤดูกาลที่ผ่านมาคือ 1.35 หมื่นบาท/ตัน
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการชดเชยดอกเบี้ยให้โรงสี 3% เพื่อซื้อข้าวมาเก็บไว้ในสต็อกรอการขายในช่วงผลผลิตออกน้อย และการให้สินเชื่อผ่านสถาบันเกษตรกรในการรับซื้อผลผลิตมาเก็บไว้รอการขายอีก 2.5 ล้านตัน คาดว่ามาตรการทั้งหมดจะดูดซับข้าวเปลือกนาปีออกจากระบบได้ประมาณ 12.5 ล้านตันข้าวเปลือก หรือเกือบ 50% ของปริมาณผลผลิตที่กำลังจะออกมาทั้งหมด 23 ล้านตันข้าวเปลือก และไม่ทำให้ราคาข้าวตกต่ำ แต่หากมาตรการดังกล่าวยังไม่เพียงพอ คาดว่ากระทรวงการคลังจะพิจารณามาตรการเสริมออกมา เพื่อดูแลราคาข้าวให้กับเกษตรกร
"หากดูดซับข้าวเปลือกออกจากตลาดได้ตามเป้าหมาย เชื่อว่าจะรักษาราคาข้าวไว้ได้ และปีนี้กระทรวงพาณิชย์ จะร่วมกับ ธ.ก.ส.ทำงานล่วงหน้า หรือตั้งแต่เดือนนี้ กว่าจะถึงเวลาเก็บข้าวเข้ายุ้งฉาง เดือน พ.ย. คาดว่าจะมีเกษตรกรนำข้าวเข้าร่วมโครงการมากขึ้น จึงไม่น่าเป็นห่วงว่าราคาข้าวจะตกต่ำในปีนี้"ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าว
ข่าวเด่น