กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มุ่งพัฒนาอสม.เติมเต็มความรู้ เป็นผู้นำจัดการปัญหาสุขภาพในชุมชนอย่างเป็นระบบ ฟื้นฟูศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชนหรือศสมช.จำนวน 6,469 แห่งทั่วประเทศให้เป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพเบื้องต้นของชุมชน บริหารและบริการโดยอสม.มืออาชีพตลอด 24 ชั่วโมงภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นพี่เลี้ยง ชี้ขณะนี้หลายแห่งทำแล้ว ได้ผลดีมาก
วันนี้ (5 สิงหาคม 2559)ที่โรงแรมดวงตะวัน เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการสุขภาพภาคประชาชนของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรืออสม.และภาคีเครือข่ายจังหวัดภาคเหนือทั้งหมด โดยมีประธานชมรมอสม.แห่งประเทศไทย ประธานชมรมอสม.ระดับภาค จากภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกกเฉียงเหนือ ภาคใต้อสม.ดีเด่นระดับชาติ ระดับจังหวัด และอำเภอ ร่วมประชุมประมาณ 400 คน เพื่อถ่ายทอดแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการทำงาน เผยแพร่นวัตกรรมผลงานของอสม. แต่ละพื้นที่ที่ลงมือปฏิบัติและประสบความสำเร็จในระดับชาติ ระดับเขต เพื่อเป็นแบบอย่างนำไปปรับใช้จัดการสุขภาพในชุมชนได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของชุมชน ซึ่งขณะนี้มีทั้งเขตชนบท กึ่งเมืองกึ่งชนบท และเขตเมือง ซึ่งต้องใช้วิธีการทำงานแตกต่างกัน
อธิบดีกรมสบส.กล่าวว่า อสม.เป็นจิตอาสาเข้ามาดูแลสุขภาพประชาชนร่วมกับภาครัฐ เป็นพลังบริสุทธิ์ ทำงานด้วยแรงศรัทธา ใจรักเป็นเวลาประมาณ 36 ปี ขณะนี้ทั่วประเทศมี 1,040,000 คนในยุคการพัฒนาประเทศไทย 4.0 กรมสบส.มีนโยบายพัฒนาศักยภาพอสม.ให้มีคุณภาพและเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้นมีองค์ความรู้และทักษะในการดูแลสุขภาพให้การรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรคและฟื้นฟูสมรรถภาพรวมทั้งเป็นผู้บำบัดทุกข์ของประชาชนในชุมชนโดยร่วมมือกับกรมวิชาการต่างๆในกระทรวงสาธารณสุขถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีที่จำเป็นสนับสนุนให้อสม.มีความเชี่ยวชาญ จนสามารถยกระดับเป็นผู้นำจัดการปัญหาสุขภาพในชุมชนอย่างเป็นระบบร่วมกับองค์กรในท้องถิ่นเช่นการพัฒนาสุขภาพแม่และเด็ก การป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด การดูแลผู้สูงอายุ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดเสี่ยง ลดโรค เป็นต้น ไม่คำนึงถึงค่าตอบแทน
ทั้งนี้บทบาทของอสม.จะเป็นผู้กระตุ้นปรับเปลี่ยนทัศนคติให้ประชาชนหันมาลงมือปฏิบัติดูแลสุขภาพตนเอง ขณะเดียวกันจะฟื้นฟูศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชนหรือศสมช.จำนวน 6,469 แห่ง เพื่อพัฒนาให้เป็นโรงพยาบาลน้อยของชุมชนมีอสม.เป็นผู้อำนวยการ บริหารโดยทีมงานอสม.ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เข้าถึงง่าย มียา มีอสม.ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง บริการทั้งการรักษาเบื้องต้น ซึ่งการเจ็บป่วยขณะนี้ร้อยละ 80 สามารถดูแลเบื้องต้นได้ ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล และส่งเสริมสุขภาพการป้องกันโรคในชุมชน การเยี่ยมบ้านมีการส่งต่อผู้ป่วยอย่างเหมาะสมปลอดภัย
สำหรับสถานพยาบาลของชุมชนดังกล่าว จะทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสาร ศูนย์การเรียนรู้ด้านสุขภาพ และเป็นคลังสนับสนุนเครื่องมือวัสดุต่างๆ ในการป้องกันโรคในบ้านเรือนโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่นการแจกพันธุ์ปลาหางนกยุงเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก การแจกถุงยางอนามัยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง เป็นที่ปรึกษา ประสานความร่วมมือองค์กรในท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกันในพื้นที่ สามารถนำรูปแบบการจัดการปัญหาที่ประสบผลสำเร็จไปถ่ายทอด ขยายผลสู่ที่อื่นๆ อย่างเป็นเครือข่าย
“เป้าหมายสูงสุดที่อยากเห็น คือ จะให้ประชาชนทุกคนเป็นอสม. รับผิดชอบสุขภาพเหมือนอสม. มีความรู้ด้านสุขภาพ และมีทักษะการดูแลตัวเองและครอบครัว เพราะผู้ที่ดูแลสุขภาพตัวเองได้ที่ดีที่สุดก็คือตัวเอง ไม่ใช้เป็นหน้าที่ของอสม.หรือเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขแต่ฝ่ายเดียว และหากป่วยจะมีอสม.และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในระดับที่สูงขึ้น เป็นผู้ให้การดูแลช่วยเหลือรักษาจนหายป่วย” อธิบดีกรมสบส.กล่าว
ข่าวเด่น