กระทรวงวิทย์ฯ - ไอซีที.ผนึกมือบุกเชียงใหม่จัดงานอลังการ“Startup & Digital Thailand”จุดประกายความรู้ธุรกิจเริ่มต้น “สมคิด”มั่นใจโครงสร้างศก.ไทยจะก้าวไปสู่ “Value–Based Economy”
ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ (CMECC) จังหวัดเชียงใหม่ กระทรวงวิทย์ฯ ผนึกกำลังกับ กระทรวงไอซีที.ลุยเชียงใหม่จัดงาน “Startup Thailand & Digital Thailand”ประเดิมเป็นที่แรก ภายใต้ธีมงาน Startup & Digital Thailand @Chiang Mai // ‘The Creative Valley’-“เชียงใหม่...เมืองสร้างสรรค์” หลังประสบความสำเร็จจากการจัดที่กรุงเทพฯ เพื่อปลุกกระแสสร้างความรู้ความเข้าใจถึงรูปแบบและจุดเด่นเฉพาะของธุรกิจเริ่มต้นหรือ Startup และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลไปสู่ภูมิภาค พร้อมบูรณาการ หน่วยงานรัฐ เอกชนที่มีส่วนสนับสนุน ส่งเสริมการขับเคลื่อน StartUp & Digital Thailand เต็มสูบ ด้าน “สมคิด”มั่นใจ “ประเทศไทย 4.0” การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ “Value–Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” จะสำเร็จเป็นไปตามความต้องการของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการเห็นการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการผลิตสินค้า “โภคภัณฑ์” ไปสู่สินค้าเชิง “นวัตกรรม” ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล รวมไปถึงเปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วย“ภาคอุตสาหกรรม” ไปสู่ “เทคโนโลยี ความความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม” และมีการเปลี่ยนจากการเน้น “ภาคการผลิตสินค้า” ไปสู่ “ภาคบริการ” มากขึ้น นอกจากนี้ในส่วนของ Digital Thailand จะไม่ได้เน้นด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว หากแต่เน้นโชว์เคสการพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ที่รวมถึงประโยชน์ต่อประชาชนทุกกลุ่มอีกด้วย
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ผนึกพลังจับมือจัดงาน Startup Thailand & Digital Thailand ในระดับภูมิภาค 3 จังหวัด โดยเริ่มที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นแห่งแรก ในระหว่างวันที่ 5-7 สิงหาคม 2559 ในหัวข้อ “การขับเคลื่อน Startup & Digital ภูมิภาคเพื่อสร้างฐานสู่ไทยแลนด์ 4.0 “ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกกถาพิเศษ“Startup Thailand & Digital Thailand กับการสร้างโอกาสในภูมิภาค”
สำหรับการจัดงาน StartUp & Digital Thailand @Chiang Mai // ‘The Creative Valley’-“เชียงใหม่...เมืองสร้างสรรค์” ในครั้งนี้ก็เพื่อเป็นการปลุกกระแสสร้างความรู้ความเข้าใจถึงรูปแบบและจุดเด่นเฉพาะของธุรกิจ Startup และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และบูรณาการหน่วยงานรัฐ ที่มีส่วนสนับสนุน ส่งเสริมการขับเคลื่อน StartUp & Digital Thailand ในรูปแบบการสัมมนาและ workshop โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ กิจกรรมพิเศษ นิทรรศการให้ความรู้และภาพรวมของ StartUp & Digital Thailand ในประเทศไทย โดยนำกิจกรรมและการให้คำปรึกษา ไปหาประชาชน และกลุ่มเป้าหมายในภูมิภาค อีกทั้งมีการนำเสนอกรณีศึกษาตัวอย่างของกลุ่มผู้ประกอบการ StartUp ที่ประสบความสำเร็จ และใช้กลุ่มตัวแทน StartUp เหล่านี้เป็นผู้ให้แรงบันดาลใจ, สื่อสารถึงแนวทางการเริ่มธุรกิจ จนไปถึงให้คำปรึกษากับผู้สนใจอย่างใกล้ชิด
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวถึงการจัดงาน “Startup Thailand & Digital Thailand”ครั้งนี้ว่า เป็นการต่อยอดมาจากความสำเร็จของการจัดงาน Startup Thailand 2016 และงาน Digital Thailand 2016 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ร่วมงานทั้งสองงานกว่า 50,000 คน ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้น และการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีความเกี่ยวโยงกันเป็นอย่างสูง และสอดคล้องกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “ประเทศไทย 4.0” ของรัฐบาล
และเพื่อเป็นการเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจของรัฐบาลในการขับเคลื่อนและบ่มเพาะ“นักรบเศรษฐกิจใหม่” (New Economic Warrior)และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยไปสู่ยุคดิจิทัล ตลอดจนเป็นการสร้างความต่อเนื่องของกิจกรรมดังกล่าวให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงไอซีทีจึงร่วมมือกันเป็นเจ้าภาพหลักอีกครั้งหนึ่ง ในการกระจายโอกาสให้คนไทยได้เห็นถึงพลังของประชาคมสตาร์ทอัพที่นำไอเดียผนวกกับเทคโนโลยีมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ รวมถึงมาตรการสนับสนุนต่างๆ จากภาครัฐและเอกชน
“งาน Startup Thailand & Digital Thailand นี้จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ โดยขยายการจัดงานบุก 3 หัวเมืองใหญ่ ทั้งเหนือ-อีสาน-ใต้ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายนนี้ เพื่อสร้างฐานสู่ประเทศไทย 4.0 ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมอย่างแท้จริงโดยจะจัดงานใน 3 ภูมิภาคให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละภูมิภาคจะมีความแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละพื้นที่ แต่จะมีกิจกรรมหลักภายในงานที่คล้ายคลึงกัน”
ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ได้กล่าวในโอกาสเดียวกันนี้ว่า งานในครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงพลังประชารัฐที่เป็นการผนึกกำลังของทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน ประชาชน อีกทั้งยังเป็นการขยายผลการจัดงาน Digital Thailand 2016 เมื่อวันที่ 26-28 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมกับพันธมิตร ได้จัดงานขึ้นที่กรุงเทพฯ เพื่อสร้างความตระหนักในด้านการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมที่แสดงศักยภาพของเทคโนโลยีและโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมที่มากับโลกยุคดิจิทัล ส่งเสริมการถ่ายทอดประสบการณ์และองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลผ่านนิทรรศการ สัมมนาวิชาการ และกิจกรรมสาระบันเทิง ตลอดจนการสร้างเครือข่ายการพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการขยายผลความสำเร็จของงาน Digital Thailand ที่ผ่านมาไปในวงกว้างทั่วประเทศ กระทรวงฯ จึงได้กำหนดจัดงาน Digital Thailand ภูมิภาค ขึ้นใน 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น และภูเก็ต โดยจัดที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นครั้งแรกของการจัดงานภูมิภาค
และเพื่อสนับสนุนรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ “ประเทศไทย 4.0” ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลนั้น กระทรวงฯ ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจากคณะรัฐมนตรี ผ่านแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่าแผนดิจิทัลไทยแลนด์ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งได้กำหนดวิสัยทัศน์ที่จะปฏิรูปประเทศไทยไปสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ อันหมายถึง ประเทศไทยที่สามารถสร้างสรรค์และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม ข้อมูล ทุนมนุษย์ และทรัพยากรอื่นๆ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน อันเป็นที่มาของการจัดงานในวันนี้ และประกอบด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลใน 6 ด้าน กล่าวคือ 1. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ 2. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล 3. สร้างสังคมคุณภาพที่ทั่วถึงเท่าเทียมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล 4. ปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล 5. พัฒนากำลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และ 6. สร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
นอกจากนี้ ภายใต้การดำเนินงานขับเคลื่อนแผนดิจิทัลไทยแลนด์ ของกระทรวงฯ ยังได้ส่งเสริมให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดนำร่องจังหวัดหนึ่งในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการภาครัฐให้กับประชาชน รวมถึงการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก และสามารถสร้างความรู้ และตระหนักถึงศักยภาพและโอกาสของเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านดิจิทัลในภูมิภาค กล่าวคือเป็นการสร้างให้เกิด Smart City และส่งเสริมการพัฒนาคลัสเตอร์ดิจิทัลตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ ขอ ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี วัตถุประสงค์หนึ่งของการได้มาจัดงาน Digital Thailand ภูมิภาค 2016 จึงเป็นการช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานของภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้นำในท้องถิ่น ตลอดจนประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือได้มีความเข้าใจในนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนดิจิทัลไทยแลนด์และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว
ด้านดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเปิดงานและแสดงปาฐกกถาพิเศษในหัวข้อ“ Startup Thailand & Digital Thailand กับการสร้างโอกาสในภูมิภาค” โดยกล่าวว่าตนเองมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ทราบถึงผลสำเร็จของการจัดงาน Startup Thailand 2016 และงาน Digital Thailand 2016 กรุงเทพฯ ที่จัดโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงไอซีทีเมื่อช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ร่วมงานทั้งสองงานกว่า 50,000 คนถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ
ในการส่งเสริมการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ Startup และการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีความเกี่ยวโยงกันเป็นอย่างสูง ที่สอดคล้องกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “ประเทศไทย 4.0” ของรัฐบาล “ประเทศไทย 4.0” เป็นความมุ่งมั่นของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ “Value–Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” ในปัจจุบัน เรายังติดอยู่ในโมเดลเศรษฐกิจแบบ “ทำมาก ได้น้อย” ประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนใหม่เป็น “ทำน้อย ได้มาก” ซึ่งทำได้โดยการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน 3 มิติคือ 1.เปลี่ยนจากการผลิตสินค้า “โภคภัณฑ์” ไปสู่สินค้าเชิง “นวัตกรรม” 2.เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วย“ภาคอุตสาหกรรม” ไปสู่การขับเคลื่อนด้วย “เทคโนโลยี ความความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม” และ3.เปลี่ยนจากการเน้น “ภาคการผลิตสินค้า” ไปสู่การเน้น “ภาคบริการ” มากขึ้น
ดร.สมคิด กล่าวต่อไปว่าประเทศไทย 4.0 เป็นการเปลี่ยนผ่านทั้งระบบใน 4 องค์ประกอบสำคัญ คือ 1.เปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม (Traditional Farming) ในปัจจุบัน ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี (Smart Farming) โดยเกษตรกรต้องร่ำรวยขึ้น และเป็นเกษตรกรแบบเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) 2.เปลี่ยนจาก Traditional SMEs หรือ SMEs ที่มีอยู่ที่รัฐต้องให้ความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา ไปสู่การเป็น Smart Enterprises และ Startups ที่มีศักยภาพสูง 3.เปลี่ยนจาก Traditional Services ซึ่งมีการสร้างมูลค่าค่อนข้างต่ำ ไปสู่ High Value Services และ 4.เปลี่ยนจากแรงงานทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะสูง
ดังนั้น“ประเทศไทย 4.0” จึงเป็นการพัฒนา “เครื่องยนต์เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจชุดใหม่” (New Engines of Growth) ด้วยการแปลง “ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ” ของประเทศที่มีอยู่ 2 ด้าน คือ “ความหลากหลายเชิงชีวภาพ” และ “ความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม” ให้เป็น “ความได้เปรียบในเชิงแข่งขัน” โดยการเติมเต็มด้วยวิทยาการ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัยและพัฒนา แล้วต่อยอดความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบเป็น “5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย”ประกอบด้วย กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ (Food, Agriculture & Bio-Tech) กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Health, Wellness & Bio-Med) กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม (Smart Devices, Robotics & Mechatronics) กลุ่มดิจิตอล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว (Digital, IoT, Artificial Intelligence & Embedded Technology) และกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง (Creative, Culture & High Value Services)
อย่างไรก็ตามทั้ง 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย จะเป็นแพลทฟอร์มในการสร้าง “New Startup” ต่างๆ มากมายใน 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ เทคโนโลยีการเกษตร (Agritech) เทคโนโลยีอาหาร (Foodtech) สุขภาพ (Healthtech) การแพทย์ (Meditech) สปา หุ่นยนต์ (Robotech) ด้านการเงิน (Fintech) อุปกรณ์เชื่อมต่อออนไลน์โดยไม่ต้องใช้คน (IoT) เทคโนโลยีการศึกษา (Edtech) อี–มาร์เก็ตเพลส (E–Marketplace) อี–คอมเมิร์ซ (E–Commerce) c]tเทคโนโลยีการออกแบบ (Designtech) ธุรกิจไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Business) เทคโนโลยีการท่องเที่ยว (Traveltech) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ (Service Enhancing)
“ประเทศไทย 4.0” จึงเป็นการเชื่อมโยงเทคโนโลยีหลักที่ต้นน้ำ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่อยู่กลางน้ำและ Startup ที่อยู่ปลายน้ำ โดยใช้พลัง “ประชารัฐ” ในการขับเคลื่อนผนึกกำลังของทุกภาคส่วนของประเทศ ทั้งภาคเอกชน ภาคการเงิน การธนาคาร มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัย โดยเน้นตามความถนัดและจุดเด่นของแต่ละองค์กร และมีภาครัฐมีบทบาทเป็นผู้ให้การสนับสนุนภายใต้หลักปรัชเศรษฐกิจพอเพียงของการ “รู้จักเติม รู้จักพอ และรู้จักปัน”ซึ่งวิสาหกิจเริ่มต้น”(Startup) จะเป็นนักรบทางเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Warrior: NEW) การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยไปสู่ยุคดิจิทัล ตลอดจนเป็นการสร้างความต่อเนื่องของกิจกรรมดังกล่าวให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง” ดร.สมคิดกล่าว
สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมและความเคลื่อนไหวการจัดงาน “Startup Thailand & Digital Thailand” ได้ที่ www.thailandstartup.org facebook.com/ThailandStartup www.digitalthailand.in.th facebook.com/digitalthailandday หรือ Call Center: 1313
ข่าวเด่น