ปลัดแรงงาน เปิดเผย 10 ส.ค. นี้ บังคับใช้อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมืออีก 20 สาขาอาชีพ ในกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ ยานยนต์ อัญมณี และกลุ่มโลจิสติกส์ แรงงานจะต้องปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา เพื่อก้าวเข้าสู่ Thailand 4.0
หม่อมหลวง ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในฐานะเป็นประธานในพิธีแถลงข่าวประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 5) ณ ห้องประชุม ปกรณ์ อังศุสิงห์ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ชั้น 10 วันนี้ (5 ส.ค. 59) ว่า การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตของแรงงาน จะบังเกิดผลดีในวงกว้าง มิใช่มีเพียงการพัฒนาความรู้ ความสามารถและทักษะฝีมือเท่านั้น การสร้างแรงจูงใจในการพัฒนา ถือเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทางอ้อมด้วย ซึ่ง "การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ" เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ส่งเสริมการพัฒนาทางอ้อมเช่นกัน เพราะการได้รับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ จะเป็นเสมือนเส้นทางความก้าวหน้าในสาขาอาชีพ (Career Path) ของลูกจ้าง ตั้งแต่เริ่มต้นเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ (Unskilled Labour) จนกระทั่งถึงระดับช่างฝีมือ (Skilled Labour) ทำให้คนทำงานมีขวัญและกำลังใจในการทำงาน ส่งผลให้การผลิตสินค้าและบริการมีคุณภาพยิ่งขึ้น ลูกจ้างและนายจ้างได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ส่วนผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้รับประโยชน์จากการใช้สินค้าและบริการที่มีคุณภาพ และในที่สุดประโยชน์โดยรวมจะตกอยู่กับประเทศไทย
การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ จะส่งผลดี 4 ประการ คือ 1) ทำให้คนทำงานที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติใน 20 สาขาอาชีพ ทั้งระดับ 1 และ 2 มีค่าจ้างเหมาะสมเป็นธรรม สอดคล้องกับทักษะฝีมือ ความรู้ ความสามารถ และการจ้างงานในตลาดแรงงาน ทำให้คนทำงานมีขวัญกำลังใจ ในการทำงาน 2) เป็นแรงจูงใจให้คนทำงานทั่วไปได้มีการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้ได้รับค่าจ้างสูงขึ้น 3) ผู้ประกอบการสามารถคัดเลือกแรงงานที่มีฝีมือเข้าทำงาน ทำให้สินค้าและบริการมีคุณภาพได้มาตรฐาน ลดค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนผลิตเพราะไม่เกิดการผิดพลาดระหว่างการผลิต และสามารถรักษาบุคลากรที่มีฝีมือไว้ได้ด้วย 4) ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือในสาขาอาชีพที่ขาดแคลน และรองรับการพัฒนาประเทศตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งนี้ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน ได้ประกาศการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ บังคับใช้ไปแล้ว 35 สาขาอาชีพ และในวันที่ 10 สิงหาคม นี้ จะบังคับใช้อีก 20 สาขาอาชีพ ในกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ ยานยนต์ อัญมณี และกลุ่ม โลจิสติกส์ ด้วย
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อภายหลังแถลงข่าว ว่า "ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ Thailand 4.0 แรงงานจึงต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐานฝีมือจะมากำกับเรื่องสมรรถนะ ที่จำเป็น ส่วนที่ขาดก็ต้องมีการเติมเต็ม ซึ่งคนทำงานจะต้องปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา"
อนึ่ง รายละเอียดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 สิงหาคมนี้
1.กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 4 สาขา ประกอบด้วย พนักงานประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้าและแสงสว่าง ระดับ 1 ค่าจ้าง 360 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 430 บาท /พนักงานประกอบมอเตอร์สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า ระดับ 1 ค่าจ้าง 370 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 445 บาท/ช่างเทคนิคบำรุงรักษาเครื่องจักรกล ระดับ 1 ค่าจ้าง 410 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 490 บาท/ช่างเทคนิคระบบรักษาความปลอดภัย ระดับ 1 ค่าจ้าง 400 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 480 บาท
2.กลุ่มชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ จำนวน 4 สาขา ประกอบด้วย สาขาช่างกลึง ระดับ 1 ค่าจ้าง 400 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 480 บาท /ช่างเชื่อมมิก-แม็ก ระดับ 1 ค่าจ้าง 400 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 480 บาท /ช่างเทคนิคบำรุงรักษาเครื่องจักรกล ระดับ 1 ค่าจ้าง 400 บาทระดับ 2 ค่าจ้าง 480 บาท/ช่างเทคนิคเครื่องกลึงอัตโนมัติ ระดับ 1 ค่าจ้าง 400 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 480 บาท
3.กลุ่มยานยนต์ ประกอบด้วย ช่างเทคนิคพ่นสีตัวถัง ระดับ 1 ค่าจ้าง 400 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 480 บาท/ช่างเทคนิคพ่นซีลเลอร์ตัวถัง ระดับ 1 ค่าจ้าง 400 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 480 บาท /พนักงานประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์(ขั้นสุดท้าย) (ระดับ 1 ค่าจ้าง 400 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 480 บาท /ช่างเทคนิคเชื่อมสปอตตัวถัง ระดับ 1 ค่าจ้าง 400 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 480 บาท
4.กลุ่มอัญมณี ประกอบด้วย ช่างเจียระไนพลอย ระดับ 1 ค่าจ้าง 420 บาทิระดับ 2 ค่าจ้าง 550 บาท /ช่างหล่อเครื่องประดับ ระดับ 1 ค่าจ้าง 420 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 550 บาท/ ช่างตกแต่งเครื่องประดับ ระดับ 1 ค่าจ้าง 420 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 550 บาท / ช่างอัญมณีบนเครื่องประดับ ระดับ 1 ค่าจ้าง 420 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 550 บาท และ
5.กลุ่มโลจิสติกส์ ประกอบด้วย นักบริหารการขนส่งสินค้า ระดับ 1 ค่าจ้าง 415 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 500 บาท /ผู้ควบคุมรถยกสินค้าขนาดไม่เกิน 10 ตัน ระดับ 1 ค่าจ้าง 360 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 430 บาท /ผู้ควบคุมสินค้าคงคลัง ระดับ 1 ค่าจ้าง 350 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 420 บาท /ผู้ปฎิบัติการคลังสินค้า ระดับ 1 ค่าจ้าง 340 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 410 บาท
ข่าวเด่น