วันนี้ (6 สิงหาคม 2559) ที่จังหวัดพิจิตร นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมคณะผู้บริหารกรมควบคุมโรค ลงพื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร เพื่อติดตามการดำเนินงานคลินิกอาชีวเวชกรรมและเวชกรรมสิ่งแวดล้อม และตรวจติดตามการดำเนินงานเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนรอบเหมืองทองคำ ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพประชาชนรอบเหมืองทองคำในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด (พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก) อย่างต่อเนื่อง โดยมีการดำเนินงานใน 4 มาตรการหลัก คือ 1.การเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพประชาชน 2.การสำรวจ เฝ้าระวังทางด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและห่วงโซ่อาหาร 3.พัฒนาระบบข้อมูล และ 4.การสื่อสารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไปว่า เพื่อเป็นการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพ ในปี 2559 หน่วยงานสาธารณสุขทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ตั้งกรรมการเพื่อดำเนินการในการแก้ไขปัญหา เช่น คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา ข้อขัดแย้ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จากการทำเหมืองแร่ทองคำ และได้แต่งตั้งคณะทำงานภายใต้คณะกรรมการดังกล่าว 2 ชุด ได้แก่ คณะทำงานตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และคณะทำงานตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน เพื่อหาแนวทางการป้องกันปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีการดำเนินงานเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพประชาชน เช่น การเฝ้าระวังการสัมผัส โดยการเก็บตัวอย่างเลือดและปัสสาวะเพื่อตรวจหาระดับสารเคมีและโลหะหนักในร่างกาย การตรวจร่างกายเพื่อหาอาการที่สัมพันธ์กับมลพิษในพื้นที่ เป็นต้น
นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค ได้พัฒนาระบบบริการสุขภาพในพื้นที่ ทั้ง 3 จังหวัด โดยมีการจัดตั้งคลินิกอาชีวเวชกรรมและเวชกรรมสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จัดตั้งศูนย์อาชีวเวชกรรมและเวชกรรมสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) และจัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาญอาชีวเวชกรรมและเวชกรรมสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาลศูนย์ /โรงพยาบาลทั่วไป เพื่อเป็นช่องทางพิเศษในการรองรับการส่งต่อการรักษาผู้อาจได้รับผลกระทบในพื้นที่ พร้อมทั้งจัดตั้งทีมหมอครอบครัว เพื่อติดตามเยี่ยมผู้ป่วยและผู้ที่มีระดับโลหะหนักในร่างกายเกินค่าอ้างอิง โดยมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขาเจ็ดลูก ถือเป็นคลินิกอาชีวเวชกรรมและเวชกรรมสิ่งแวดล้อม แห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งดำเนินการเฝ้าระวังสุขภาพประชาชน โดยมีการจัดทำทะเบียนกลุ่มเสี่ยงเพื่อเฝ้าระวังติดตาม การคัดกรองสุขภาพ รักษาเบื้องต้นและการส่งต่อ รวมทั้งให้ความรู้กับประชาชนในการลดการสัมผัสและป้องกันตนเองจากมลพิษสิ่งแวดล้อม
สำหรับแผนการดำเนินงานเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพประชาชนรอบเหมืองทองคำ เป็นการศึกษาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองทองคำในระยะยาว ประกอบด้วย 1.การติดตามผู้ที่มีระดับโลหะหนักในร่างกายเกินค่าอ้างอิง เพื่อเฝ้าระวังการสัมผัสและเฝ้าระวังผลกระทบ 2.การศึกษาเชิงการประเมินความเสี่ยงที่เชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจัดทำระบบการตรวจติดตาม เฝ้าระวังด้านสุขภาพในชุมชนรอบเหมืองทองคำ 3.การจัดทำคู่มือ การเฝ้าระวัง และดูแลรักษาสุขภาพประชาชนรอบเหมืองทองคำ เพื่อให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงร่วมกันจัดทำแนวทางการดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
ข่าวเด่น