กระทรวงสาธารณสุข ขยายบริการบำบัดผู้เสพฝิ่นบนพื้นที่สูงตามโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน จำนวน 126 หมู่บ้าน 7 อำเภอ ใน 3 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอนและตาก ให้เลิกเสพฝิ่นถาวร เน้นการรักษาด้วยยาเมทาโดน ให้ผู้เสพกินแทนการใช้เข็มฉีดยา เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้ออันตรายอาทิ เช่น เชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบ ผลการบำบัดปี 2557-2559 มี 4 ชนเผ่า เข้ารับการบำบัดกว่า 1,300 ราย
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ในปี 2559-2561 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เพิ่มมาตรการตัดวงจรยาเสพติด โดยสถาบันธัญญารักษ์ กรมการแพทย์ ได้จัดทำโครงการบำบัดผู้เสพฝิ่นที่อยู่ในพื้นที่ที่ยังมีปัญหาการปลูกฝิ่นซ้ำซากและหนาแน่นประมาณ 1,230 ไร่ ใน 126 หมู่บ้าน 7 อำเภอของ 3 จังหวัดได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอนและตาก จำนวน 4,210 ครัวเรือน รวมทั้งหมด 21,563 คน ร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 5 และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ตามโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2553 ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากระเหรี่ยง ลีซอ มูเซอ และม้ง ที่ยังคงใช้ฝิ่นรักษาโรคตามความเชื่อและวัฒนธรรมประเพณี โดยเน้นหนักการบำบัดทั้งผู้เสพและครอบครัว ที่จ.เชียงใหม่ ดำเนินการใน 5 อำเภอ ได้แก่ อมก๋อย เวียงแหง ไชยปราการ เชียงดาว และแม่แตง ดูแลโดยรพ.ธัญญารักษ์เชียงใหม่ร่วมกับศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาความมั่นคงพื้นที่อ.อมก๋อย ที่จ.ตาก ดำเนินการที่อ.แม่ระมาด โดยสถาบันธัญญารักษ์ และจ.แม่ฮ่องสอนที่อ.ปาย โดยรพ.ธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน
นาวาอากาศตรีแพทย์บุญเรืองกล่าวว่า การเสพฝิ่นของชนเผ่าประมาณร้อยละ 80 ยังเป็นการสูบซึ่งเป็นรูปแบบเดิม อีกร้อยละ 20 ใช้วิธีฉีดเข้าเส้นเลือด พบในพื้นที่โซนล่างของอ.อมก๋อยและโซนบนของอ.แม่ระมาด เพราะเชื่อว่าออกฤทธิ์เร็วและใช้ปริมาณน้อยกว่า การบำบัดรักษาในพื้นที่เป้าหมายจะเน้นให้ผู้เสพฝิ่นกินยาเมทาโดน ซึ่งเป็นสารสกัดที่ใช้แทนฝิ่น กินทดแทนฝิ่นในระยะยาว ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องใช้เข็มฉีดฝิ่นเข้าเส้นเลือด เพื่อลดการติดและแพร่เชื้อโรคทางเข็มฉีดยา โดยเฉพาะเชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักแสบ เป็นต้น ได้กระจายยาไปที่รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลที่อยู่ใกล้ที่สุดเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงง่าย มีระบบติดตามผลในชุมชนภายหลังบำบัดโดยอสม.และอบต. เพื่อให้เลิกเสพได้อย่างถาวร ผลการดำเนินการในรอบปี 2557– 2559 ทั้ง 3 จังหวัดมีผู้เสพเข้ารับการบำบัดรวม 1,398 ราย ประกอบด้วย จ.เชียงใหม่ 1,135 ราย ตาก 236 ราย และแม่ฮ่องสอน 27 ราย
ทางด้านนายแพทย์วรพงษ์ สำราญทิวาวัลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่กล่าวว่า อ.อมก๋อย เป็นพื้นที่ทุรกันดารมากและมีผู้เสพฝิ่นมากที่สุดประมาณ 4,500 – 5,000 ราย ในการบำบัดผู้เสพฝิ่นได้เน้นการบำบัดในชุมชน โดยตั้งศูนย์ลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดในชุมชน (Drop In Center) ให้บริการกับผู้เสพและครอบครัว 7 แห่งทั้ง 5 อำเภอ เปิดคลินิกเมทาโดนให้บริการในโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งและจัดบริการเชิงรุกโดยพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจำนวน 100 คน ให้สามารถจ่ายยาเมทาโดนตามขนาดความรุนแรงของอาการติดยา และรับบริการใกล้บ้านที่สุด ส่งผลให้ผู้เสพฝิ่นเชื่อมั่นและศรัทธาบอกต่อกันปากต่อปาก เข้ารับบริการเพิ่มขึ้น ให้ชุมชนมีส่วนร่วมติดตามผู้ที่ผ่านการบำบัด ผลดำเนินการในปี 2558 ติดตามผู้ผ่านการบำบัดได้ 761 ราย เลิกเสพได้ 62 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 ติดตามไม่ได้ 13 ราย มีผู้ที่กลับไปเสพซ้ำและกลับเข้ารับการรักษาใหม่รวมทั้งผู้ที่เลิกไม่ได้ยังคงรับการรักษาด้วยเมทาโดนต่อเนื่องจำนวน 686 ราย คิดเป็นร้อยละ 90 ซึ่งยังเป็นอัตราที่สูงกว่าพื้นที่ทั่วไปประมาณ 2 เท่าตัว
ทั้งนี้การใช้ยาเมทาโดน นอกจากจะลดอาการอยากยา (Craving) ได้ดีแล้ว ยังมีประสิทธิภาพการบำบัดรักษาในระยะยาว เพื่อทดแทนการเสพติดฝิ่นเรื้อรัง โดยผู้ที่เสพฝิ่นด้วยวิธีสูบและฉีดน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ส่วนใหญ่จะสามารถหยุดเสพได้ ส่วนในกลุ่มของผู้ที่ฉีดมากกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์และติดสุราร่วมด้วยซึ่งมีประมาณร้อยละ 19 จะต้องใช้เวลารักษานาน ในรายที่หยุดเสพไม่ได้จะส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ ซึ่งในปีนี้ได้เพิ่มการค้นหาผู้เสพในชุมชนเพื่อเข้ารับการบำบัดรักษาและบูรณาการแผนติดตามช่วยเหลือผู้ที่ผ่านการบำบัดรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตโดยไม่พึ่งยาเสพติด อย่างไรก็ดีการทำงานของเจ้าหน้าที่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงผู้ติดฝิ่น เนื่องจากเดินทางยากลำบากมากโดยเฉพาะช่วงฤดูฝน
ข่าวเด่น