วันนี้ (7ส.ค.)เมื่อเวลา 13.15น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นายบุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รักษาการเลขาธิการกกต. แถลงว่า ได้รับรายงานจาก กกต.ประจำจังหวัด พบผู้กระทำผิดกฏหมายด้วยการฉีกบัตรประชามติใน 14 จังหวัด 21 หน่วย ประกอบด้วย นครปฐม, ฉะเชิงเทรา, สมุทรสาคร, พะเยา, ปทุมธานี, ชลบุรี, สุรินทร์, นครสรรค์, กาญจนบุรี, อุบลราชธานี, บุรีรัมย์, เชียงราย, ยโสธร และกรุงเทพฯ สาเหตุการฉีกบัตรส่วนใหญ่เป็นความเข้าใจผิดว่าจะต้องฉีกบัตรเป็น 2 ส่วน โดยขณะนี้ กกต.ได้ประสานไปยังกรรมการประจำหน่วยให้มีการทำความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชนในเรื่องนี้แล้ว
ผู้ที่กระทำผิดไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสอบสวนเพื่อดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่มีการฉีกบัตรไม่ได้เกิดจากความบกพร่องในการประชาสัมพันธ์ เพราะที่ผ่านมา กกต.ได้ประชาสัมพันธ์อย่างเต็มที่ และการเลือกตั้งในทุกครั้งที่ผ่านมาไม่เคยทำบัตรเลือกตั้งประเภทที่ต้องฉีกบัตรก่อนหย่อนลงหีบแต่อย่างใด
"ยืนยันว่ากกต.ประชาสัมพันธ์มาตลอดว่ามีบัตรใบเดียว 2 ประเด็น และไม่ได้ให้ฉีกบัตร แต่เมื่อบัตรถูกฉีกแล้วถือว่าเป็นบัตรเสีย และผู้ที่ฉีกบัตรก็ไม่สามารถรับบัตรเพื่อไปใช้สิทธิใหม่ได้ เพราะถือว่าใช้สิทธิไปแล้ว"นายบุณยเกียรติกล่าว
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีนักศึกษาธรรมศาสตร์ฉีกบัตรออกเสียงประชามติ ที่เขตบางนา จ.กรุงเทพฯ ว่า ถือว่ามีความผิดชัดเจน เพราะมีเจตนาฉีกบัตรเพื่อแสดงออกทางการเมือง ซึ่งกรณีนี้หากมีความเข้าใจว่าสามารถต่อสู้คดีจนศาลยกฟ้อง หรืออาจเลียนแบบกรณีของอาจารย์มหาลัยวิทยาลัยคนหนึ่งที่เคยฉีกบัตรเลือกตั้ง ซึ่งศาลชั้นต้นยกฟ้องนั้น ถือว่าเป็นความเข้าใจผิด เพราะสุดท้ายทั้งศาลอุทธรณ์และศาลฏีกาได้วินิจฉัยว่ามีความผิดและถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี
ข่าวเด่น