หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน บมจ.ไทยออยล์ รายงานสถานการณ์น้ำมัน ประจำวันที่ 8 ส.ค. 2559ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นกดดันราคาน้ำมันดิบปรับลด ขณะที่แรงซื้อ-ขายทำกำไรหนุนให้ราคาปรับลงไม่มากนัก
(-) ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น หลังตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ประกาศเมื่อวันศุกร์ออกมาดีเกินคาด โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ก.ค. ปรับเพิ่มขึ้นอีก 255,000 ตำแหน่ง ซึ่งแม้จะลดลงจากตัวเลขเดือนก่อนหน้า แต่ก็ถือว่าออกมาดีเกินคาดที่นักเศรษฐศาสตร์มองไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 180,000 ตำแหน่ง ส่งผลให้อัตราว่างงานสหรัฐฯ ยังคงยืนอยู่ที่ระดับ 4.9% ในเดือน ก.ค.
(-) จำนวนหลุมขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติของสหรัฐฯ รายสัปดาห์โดย Baker Hughes สิ้นสุด ณ วันที่ 5 ส.ค. ปรับเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกัน โดยเพิ่มขึ้นอีก 7 หลุม รวมเป็น 381 หลุม อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์คาดว่าที่ระดับราคาน้ำมันดิบราว 40 เหรียญฯ อาจทำให้อัตราการเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนหน้านี้อาจชะลอลง
(+) อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบยังมีแรงหนุนจากการที่นักลงทุนและกองทุนยังคงเข้าทำการซื้อกลับสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า (short-covering) อย่างต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบปรับลดลงใกล้ 40 เหรียญฯ โดยหน่วยงานกำกับดูแลอนุพันธ์ของสินค้าโภคภัณฑ์สหรัฐฯ (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ของกลุ่มผู้จัดการกองทุน (Managed money) มีการปรับลดการถือครอง (Net long position) ลง 31,031 สัญญา มาอยู่ที่ 80,302 สัญญาสิ้นสุด ณ วันที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมา
(+) การส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เดือน มิ.ย. ปรับลดลงกว่า 40% มาอยู่ที่ 383,000 บาร์เรลอต่อวัน จากระดับสูงสุดในเดือน พ.ค. ที่ 662,000 บาร์เรลต่อวัน หลังส่วนต่างราคาระหว่างราคาน้ำมันดิบเบรนท์และเวสต์เท็กซัสปรับลดลง โดยการส่งออกไปแคนาดาอยู่ที่ 280,000 บาร์เรลต่อวัน ไปอังกฤษอยู่ที่ 37,000 บาร์เรลต่อวัน
(+) บริษัทซื้อ-ขายน้ำมันรายใหญ่ Trafigura ผ่อนปรนเงื่อนไขในการชำระเงินสำหรับการซื้อน้ำมันบสำหรับกับโรงกลั่นขนาดเล็กของจีนมากขึ้น จากเดิมกำหนดชำระเงิน 30-60 วันเพิ่มเป็น 90 วันหลังวันเริ่มขนส่งน้ำมัน เพื่อหวังเพิ่มปริมาณการนำเข้าของจีนให้มากขึ้น โดยน้ำมันส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากแถบละตินอเมริกา ได้แก่ น้ำมันดิบ Merey (เวเนซุเอลล่า), Vasconia (โคลัมเบีย) และ Escalante (อาร์เจนติน่า) เป็นต้น
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังโรงกลั่นใหญ่ในรัสเซียพร้อมส่งออกน้ำมันเบนซินมายังอินโดนีเซียเป็นครั้งแรกหลังมีการเซ็นสัญญาในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ขณะที่อุปทานน้ำมันเบนซินในเอเชียเหนือเองก็ยังคงอยู่ในระดับสูง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยราคาได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อที่เข้ามาในตลาดจากเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ในภูมิภาคโดนรวมยังคงไม่สูงมากนัก ประกอบกับปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังในสิงคโปร์ก็ยังปรับขึ้นต่อเนื่อง
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 40-45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 41-46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ความกังวลเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดยังไม่คลี่คลาย หลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่สองติดต่อกัน เนื่องจากปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบยังคงอยู่ในระดับสูง
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแตะระดับสูงสุดในรอบประวัติการณ์ในเดือน ก.ค. ที่ระดับ 33.41 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังอิรักและไนจีเรียสามารถเพิ่มปริมาณการส่งออก และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังล่าสุดบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียได้เจรจากับหน่วยรักษาความปลอดภัยของประเทศในการเจรจาเพื่อเปิดท่าส่งออกน้ำดิบสำคัญของประเทศ Es Sider และ Ras Lanuf และ Zueitina ในเร็วนี้
ภาวะราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุด Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ณ วันที่ 5 ส.ค. ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกัน สู่ระดับ 381 แท่น
โดย หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน บมจ.ไทยออยล์ ประจำวันที่ 8 ส.ค. 2559
ข่าวเด่น