การขอความร่วมมือในครั้งนี้ สืบเนื่องจากในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอศ. ได้เข้าทำการตรวจค้นและดำเนินคดีกับโรงงานผลิตอัญมณีและเครื่องประดับขนาดใหญ่ที่มีการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ พบว่ามีการใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิจำนวนมากในการดำเนินธุรกิจ
โรงงานดังกล่าวมีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของ พบว่ามีการติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิบนเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 156 เครื่อง ในโรงงานผลิต และสำนักงาน ที่ตั้งอยู่ในเขตปริมณฑล โดยซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิที่ตรวจพบเป็นซอฟต์แวร์ออกแบบ ซอฟต์แวร์สำหรับใช้ในสำนักงาน และแปลภาษา การดำเนินคดีในครั้งนี้ถือว่าเป็นคดีใหญ่ในปีนี้
ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศไทย ดังนั้นเจ้าของลิขสิทธิ์จึงขอความร่วมมือไปยังผู้นำด้านอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ตรวจสอบบริษัทของท่านว่าใช้ซอฟต์แวร์ที่ได้รับสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิหรือไม่
ช่วงต้นปีที่ผ่านมา บก.ปอศ. ได้ร่วมมือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาและภาคเอกชนได้จัดทำโครงการรณรงค์ประจำปี 2559 หัวข้อ “Safe Software, Safe Nation” ซึ่งเป็นโครงการรณรงค์ที่จะปิดช่องโหว่ด้านความปลอดภัยอันเนื่องมาจากการติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิบนเครื่องคอมพิวเตอร์
“โครงการดังกล่าวได้สร้างความตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการใช้ซอฟต์แวร์ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งความเป็นจริงมีความเกี่ยวข้องกันระหว่างซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิกับมัลแวร์ ผู้บริหารและกรรมการบริษัทควรให้ความสำคัญกับความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับภัยคุกคามของการสูญเสียหลายด้านอันเนื่องมาจากการใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ อาจส่งผลทำลายต่อภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือไปด้วยในขณะเดียวกัน” พ.ต.อ.วินัย วงษ์บุบผา รอง ผบก.ปอศ. กล่าว
ข่าวเด่น