นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ได้มีรายงานพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดรุนแรง ในประเทศเพื่อนบ้านของประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 มกราคม – 25 กรกฎาคม 2559 พบชนิด H5N8 ในประเทศเวียดนาม 6 ครั้ง H5N1ในประเทศเวียดนาม 3 ครั้ง ประเทศกัมพูชา 1 ครั้ง H5 ในประเทศเมียนมาร์ 1 ครั้ง และเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2559 พบการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดรุนแรง H5N8 ที่ประเทศไต้หวัน ในโรงฆ่าสัตว์ปีก อีกทั้งอยู่ในช่วงสู่ฤดูฝน อาจจะมีฝนชุกในหลายพื้นที่ของประเทศ และอากาศเปลี่ยนแปลงจากร้อนเป็นร้อนชื้น สภาพอากาศดังกล่าวส่งผลต่อสุขภาพสัตว์ปีก ทำให้สัตว์ปีกอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำลง มีความเสี่ยงในการเกิดโรคและการระบาดโรคได้
นายสัตวแพทย์อยุทธ์ หรินทรานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ป้องกันโรคระบาดในสัตว์ปีก จึงขอความร่วมมือแต่ละจังหวัดเข้มงวดการดำเนินงานตามมาตรการควบคุม ป้องกันโรคในพื้นที่ ดังนี้ 1. เมื่อได้รับแจ้งหรือพบสัตว์ปีกป่วยตายมีลักษณะอาการเหมือนนิยามโรคไข้หวัดนก ต้องเข้าตรวจสอบและดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคทันที 2. จังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ให้เข้มงวดมิให้มีการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกและซากสัตว์ปีกตามแนวชายแดน ยานพาหนะขนย้ายสัตว์ปีกรวมถึงวัสดุ อุปกรณ์ที่ผ่านเข้าออกด่านฯจะต้องได้รับการพ่นยาฆ่าเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ 3. การเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกและซากสัตว์ปีกต้องมีผลการตรวจรับรองโรคระบาดและใบอนุญาตการเคลื่อนย้ายทุกครั้ง ตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด
4. ระงับการนำเข้าไก่ เป็ด ห่าน และนก รวมถึงไข่ที่ใช้สำหรับทำพันธุ์และซากสัตว์ปีกดังกล่าวจากประเทศที่มีรายงานโรคไข้หวัดนกเข้าราชอาณาจักรจนกว่าสถานการณ์โรคจะสงบ 5. ตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต ให้ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค พร้อมทั้งตรวจเยี่ยมผู้ประกอบการ ตรวจสอบการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกเข้า ออก ตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบตามที่กรมปศุสัตว์กำหนดหรือไม่ ตลอดจนแหล่งที่มาของสัตว์ปีกมีชีวิตทุกร้าน ทุกแห่ง 6. ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีก ให้เข้มงวดระบบความปลอดภัยทางชีวภาพและปฏิบัติตามกฎระเบียบตามที่กรมปศุสัตว์กำหนดอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานทุกฝ่าย ให้ดำเนินงานอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่ประเทศไทย และหากพบสัตว์ปีกป่วยหรือตายผิดปกติ ไม่ทราบสาเหตุ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ปศุสัตว์ตำบล อาสาปศุสัตว์ ในพื้นที่ทันที หรือโทร 0-9630-11946 เพื่อดำเนินการควบคุม ป้องกันโรคมิให้แพร่ระบาดได้ทันท่วงที
ข่าวเด่น