ก.แรงงาน จัดสัมมนาฯ รับฟังความเห็น ผลการศึกษา วิจัย “ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของแรงงานไทยที่ทำงานในต่างประเทศ กรณีศึกษาไต้หวัน” เพื่อให้แรงงานไทยใช้เป็นข้อมูลในการประกอบการพิจารณาแนวทางตัดสินใจเดินทางไปทำงานในไต้หวัน และเป็นข้อมูลสำหรับภาครัฐและหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในไต้หวัน
พันตำรวจตรีหญิงรมยง สุรกิจบรรหาร ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน กล่าวในฐานะประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ Focus Group โครงการศึกษาวิเคราะห์ เรื่อง “ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของแรงงานไทยที่ทำงานในต่างประเทศ กรณีศึกษาไต้หวัน” ณ ห้องดินแดง โรงแรมปริ๊นซ์ตั้น พาร์คสวีท ดินแดง กรุงเทพฯ ว่า ปัจจุบันประเทศไทยเดินหน้าด้วยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ตามที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทาง ‘ประชารัฐ’ เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน โดย พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะให้กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลักในการเดินหน้าประเทศไทยไปด้วยกัน ซึ่งกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่ม ทั้งแรงงานทุกสัญชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยและแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งมีข้อมูลของแรงงานที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ พบว่า บางส่วนได้ประกอบอาชีพที่ดี บางส่วนต้องทำงานในอาชีพที่เสี่ยงอันตราย ต้องประสบกับความยากลำบาก มีปัญหากับนายจ้าง ปัญหาสุขภาพ ปัญหาต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่กระทรวงแรงงานไม่อาจเพิกเฉย ต้องให้การดูแลและพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมในการจัดส่งไปทำงานด้วย
“การศึกษาวิจัย ‘ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของแรงงานไทยที่ทำงานในต่างประเทศ กรณีศึกษาไต้หวัน’ ซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดทิศทางการจัดส่งแรงงานไปทำงานในต่างประเทศในอนาคตและหากมีการศึกษาด้วยว่าหลังจากการเปิดประชาคมอาเซียนแล้วมีผลต่อการการเดินทางไปทำงานของคนไทยในประเทศต่างๆ หรือไม่ จะเป็นประโยชน์ต่อแรงงานไทยที่คิดจะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศด้วยว่าจะเกิดความคุ้มค่าเพียงใด” ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน กล่าวเพิ่มเติม
สรุปผลการศึกษาฯ ครั้งนี้ ซึ่งสำนักงานสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ ได้ดำเนินการร่วมกับ ผศ.ดร.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของแรงงานไทยที่ทำงานในไต้หวันตลอดอายุการทำงานต่อคน มีอัตราเฉลี่ยเป็นเงิน 3,061,321.19 บาท ส่วนค่าเฉลี่ยการอยู่ทำงานในไต้หวัน 5 ปี ผลประโยชน์สุทธิตกปีละ 250,173.28 บาท หรือเดือนละ 20,847.77 บาท ซึ่งผลประโยชน์สุทธิที่คำนวณได้นี้มีแนวโน้มสูงกว่าต้นทุนค่าเสียโอกาสหากทำงานในประเทศไทย
นอกจากนี้ แรงงานมีความพึงพอใจกับการทำงานที่ไต้หวันโดยเฉลี่ยในระดับปานกลาง (คะแนน 3.1) โดยมีความพึงพอใจระดับปานกลางถึงค่อนข้างมากจากการที่สถานภาพทางเศรษฐกิจของครอบครัวดีขึ้น (คะแนน 3.6) และการปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน (คะแนน 3.5) อย่างไรก็ดี แรงงานมีความพึงพอใจน้อยในเรื่องการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง ปรับขึ้นเงินเดือนด้วยความเหมาะสม (คะแนน 2.5)
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาฯ ประกอบด้วย ผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ ประมาร 50 คน ซึ่งได้แสดงความคิดเห็นต่อผลการศึกษาอย่างกว้างขวาง โดยผู้ทำการศึกษาฯ จะนำไปปรับปรุงให้รายงานผลการศึกษาฯ มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ต่อไป
ข่าวเด่น