ตามที่ปรากฏเป็นข่าวกรณีที่สำนักงาน กสทช. เสนอให้มีการบริหารจัดการซิมนักท่องเที่ยว (tourist sim) นั้น สำนักงาน กสทช. ขอชี้แจงว่า เจตนารมณ์สำคัญในเรื่องนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการประชุม 2016 ATRC Dialogue ระหว่างวันที่ ๑-๓ สิงหาคม ๒๕๕๙ ณ จังหวัดภูเก็ต ที่ผ่านมา ที่ประชุมซึ่งประกอบไปด้วย กสทช. ในกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN regulators) ทั้ง ๑๐ ประเทศ ได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของแต่ละประเทศ
โดยมีประเด็นเรื่องความมั่นคงปลอดภัยบนมือถือ (security on mobile) เป็นหัวข้อหนึ่งที่กลุ่มประเทศอาเซียนต่างให้ความสำคัญ และประเทศมาเลเซียได้นำเสนอว่าเป็นประเทศที่มีการกำหนดให้มีซิมนักท่องเที่ยวเพื่อบริหารจัดการเลขหมายโทรคมนาคมให้มีประสิทธิภาพ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาพำนักในประเทศในระยะเวลาสั้นๆ ให้มีความสะดวกและปลอดภัยสำหรับการท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งนี้ แนวความคิดเรื่องซิมนักท่องเที่ยวดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นจากเจตนารมณ์ที่ดีเพื่อแก้ไขปัญหาดังต่อไปนี้
๑. เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคม กล่าวคือ ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาในเรื่องการบริหารจัดการเลขหมายโทรคมนาคมอย่างมาก เนื่องจากมีเลขหมายที่จัดสรรไปแล้วเป็นจำนวนมากถึง ๑๗๐ ล้านเลขหมาย แต่เป็นเลขหมายที่มีการใช้งานจริงเพียง ๑๐๓ ล้านเลขหมายเท่านั้น ทำให้ปัจจุบันมีเลขหมายที่ค้างอยู่ในระบบเป็นจำนวนมากถึง ๖๗ ล้านเลขหมาย ทั้งนี้ ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากการที่นักท่องเที่ยวซึ่งใช้งานซิมในระยะเวลาอันสั้น ในขณะที่กฎหมายและกฎระเบียบของ กสทช. ได้กำหนดให้ความคุ้มครองผู้ใช้บริการทุกรายให้สามารถสะสมวันใช้งาน (validity) ได้ถึง ๑ ปี และกำหนดให้ต้องมีการเก็บรักษาเลขหมายที่ไม่ใช้งานแล้วเป็นระยะเวลา ๓ เดือน จึงจะสามารถนำเลขหมายดังกล่าวกลับมาใช้งานใหม่ได้ ดังนั้น หากมีการกำหนดให้ซิมนักท่องเที่ยวสามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้เร็วขึ้น ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ได้ในระดับหนึ่ง
๒. เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องเงินคงเหลือในระบบ กล่าวคือ แม้ว่าปัจจุบัน กสทช. จะได้กำหนดว่า เมื่อมีการเลิกใช้งานเลขหมายแล้ว ให้ผู้ใช้บริการสามารถขอคืนเงินที่ค้างอยู่ในระบบได้ก็ตาม แต่เนื่องจากปัจจุบันเมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางกลับประเทศตนและไม่มีการใช้งานเลขหมายนั้นๆ แล้ว ก็จะไม่มีการขอคืนเงินที่ค้างในระบบดังกล่าว ทำให้เงินดังกล่าวตกเป็นของผู้ให้บริการ ดังนั้น จึงมีแนวความคิดที่จะกำหนดให้เงินดังกล่าวเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป
๓. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว กล่าวคือ เป็นการประสานความร่วมมือในการอำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มนักท่องเที่ยวกับกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น การสนับสนุนบริการประเภท Location-based services เพื่อให้ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญต่างๆ เช่น จุดบริการนักท่องเที่ยว โรงพยาบาล สถานีตำรวจ รวมถึงร้านอาหาร ร้านกาแฟ เป็นต้น ทั้งนี้เป็นไปเพื่อให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยวในกรณีต่างๆ แต่ก็ต้องดำเนินการภายใต้กรอบของกฎหมายที่มีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการคุ้มครองสิทธิและข้อมูลส่วนบุคคล (privacy and data protection) เป็นสำคัญ
กล่าวโดยสรุป สำนักงาน กสทช. ขอย้ำว่า เรื่องการจัดให้มีซิมนักท่องเที่ยวนี้เป็นเพียงแนวความคิดที่เกิดจากการประชุม ATRC Dialogue ของ กสทช. ในกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN regulators) โดยมีเจตนารมณ์ที่ดีเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาพำนักในประเทศในระยะเวลาสั้นๆ ให้มีความสะดวกและปลอดภัยสำหรับการท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศอาเซียน อย่างไรก็ตาม หากจะมีการออกประกาศต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแล้ว
ทางสำนักงาน กสทช. ได้มีการเตรียมการเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะอีกไม่น้อยกว่า ๕-๖ ครั้ง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา ไม่น้อยกว่า ๖ เดือน โดยจะมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเข้าร่วมด้วย เช่น สถานทูต ผู้ให้บริการโทรศัพท์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หน่วยงานความมั่นคง ตลอดจนกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวและประชาชน ทั้งนี้ เมื่อรับฟังความคิดเห็นต่างๆ อย่างรอบด้านแล้ว ทางสำนักงาน กสทช. จะเลือกดำเนินการตามแนวทางที่ดีที่สุด เช่น อาจจะดำเนินการตามหลักการเดิมที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน หรือดำเนินการจัดให้มีซิมนักท่องเที่ยวโดยกำหนด แต่เพียงเรื่องระยะเวลาสิ้นสุดการใช้งานและเงินคงเหลือในระบบเท่านั้น เป็นต้น
ในการนี้ สำนักงาน กสทช. จึงขอแจ้งให้นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศให้รับทราบโดยทั่วกันว่า ในปัจจุบันทางสำนักงาน กสทช. ยังมิได้บังคับใช้เรื่องซิมนักท่องเที่ยวแต่อย่างใดเพราะต้องดำเนินการศึกษาให้รอบด้านเสียก่อนเพื่อประโยชน์สูงสุดในการดำเนินการต่อไป
ข่าวเด่น